ค่าเงินบาท ดอกเบี้ย และเงินทุนไหลเข้า | บัณฑิต นิจถาวร

ค่าเงินบาท ดอกเบี้ย และเงินทุนไหลเข้า | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้วเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ทะลุระดับ 32.50 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี ในวันเดียวกันสํานักวิเคราะห์ข่าว Traders KP ได้ขอสัมภาษณ์ผมเรื่องนี้

ขอความเห็นเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท เงินทุนไหลเข้า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและดอกเบี้ยไทย ซึ่งผมได้ให้ความเห็นไป วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นที่ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้ คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องมาถึงสิงหาคม และแข็งค่ามากขึ้นในเดือนกันยายน ที่เงินบาทเเข็งค่าขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซนต์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากระดับประมาณ 34.10 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์เมื่อต้นเดือนมาปิดที่ 32.37 วันศุกร์ที่แล้ว เป็นระดับที่เงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบสามสิบเดือน และสะท้อนแนวโน้มการแข็งค่าที่ต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ทําให้เงินบาทแข็งค่ารอบนี้มาจากสามเรื่อง

1.การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐซึ่งตั้งเค้ามาตั้งแต่ช่วงกลางปีว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐผ่อนคลายลงชัดเจน

การคาดหวังดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่า และยิ่งอ่อนค่ามากหลังธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง .50% เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน ส่งผลให้เงินสกุลอื่นรวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

2.การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ลดลงทําให้นักลงทุนปรับพอร์ตและกระจายการลงทุนใหม่ตามผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยมองหาสินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนดีในเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการฟื้นตัวและมีความเสี่ยงมากขึ้นๆจากภูมิรัฐศาสตร

โดยนักลงทุนมองว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่องเพราะความเข้มแข็งของการใช้จ่ายในประเทศ

ขณะที่ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและจีนอาจมีข้อจํากัดในการขยายตัวในระยะต่อไป ทําให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดการเงินในภูมิภาคมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทําให้ค่าเงินของเงินสกุลภูมิภาคล้วนแข็งค่าขึ้น มากสุดคือ เงินริงกิตมาเลเซีย ตามด้วยเงินบาทไทย

3.การเปลี่ยนแปลงในประเทศเราเอง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง การเมืองคือเรามีรัฐบาลข้ามขั้วที่นักลงทุนมองว่าอาจทำให้การเมืองประเทศไทยมีเสถียรภาพมากกว่าอดีต ดึงนักลงทุนที่เคยถอนการลงทุนออกไปเพราะห่วงเสถียรภาพการเมืองให้กลับมา

ส่วนเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราต่ำมาตลอด แต่ก็เป็นเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ตํ่า ทําให้มีศักยภาพที่จะเติบโตในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยโลกต่ำลง โดยเฉพาะถ้าได้แรงสนับสนุนที่ดีจากนโยบายรัฐบาล มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดตํ่าสุดแล้ว และมีแต่จะดีขึ้น

นี่คือเหตุผลที่ทําให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เป็นผลหลักจากปัจจัยภายนอกท่ีมีปัจจัยในประเทศสนับสนุน

สําหรับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจและการดําเนินนโยบาย

ประเด็นที่ต้องตระหนักคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ครั้งเดียวหรือชั่วคราว แต่จะจุดเริ่มต้นของการปรับลดที่จะมีมากขึ้นตามมา

เห็นได้จากประมาณการเศรษฐกิจของกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (SEP) ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะลงได้อีกครึ่งเปอร์เซนต์ปีนี้และอีกหนึ่งเปอร์เซนต์ปีหน้า

ชี้ว่าเรากําลังเข้าสู่ขาลงของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยโลก คืออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะต่ำลง ทําให้เงินลงทุนจะไหลเข้าออกระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทน (Search for yield)

ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์จะมีมาก รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ นี่คือบริบทของเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปที่เราต้องเข้าใจและตระหนัก

ในภาวะเช่นนี้ในแง่นโยบายการเงิน โจทย์ที่รออยู่ข้างหน้าสําหรับประเทศตลาดเกิดใหม่คือ การบริหารจัดการผลกระทบที่จะมีต่อค่าเงิน สภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย และเสถียรภาพเศรษฐกิจ ที่จะมาจากเงินทุนไหลเข้าขับเคลื่อนโดยวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง ซึ่งจะต่อเนื่อง

ทําให้ความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศว่าต้องปรับลงขนาดไหน หรือไม่ และเมื่อไรจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และของไทยก็เช่นกัน

สำหรับกรณีเศรษฐกิจไทย ในระยะสั้น ผมให้ความเห็นว่าเราควรให้กลไกตลาดทํางานให้ค่าเงินบาท สภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยระยะยาว ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร ปรับตัวตามภาวะตลาดและการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ไม่ควรแทรกแซง ยกเว้นค่าเงินบาท ถ้าความผันผวนมีมากเกินไปก็ควรเข้าดูแลเพื่อลดภาระที่จะมีต่อภาคธุรกิจในการปรับตัวโดยเฉพาะภาคส่งออก

สําหรับนโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ย ควรให้ความสําคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาวะที่เงินทุนไหลเข้าจะมีมากและต่อเนื่อง คือผลที่จะมีต่ออัตราเงินเฟ้อ ดุลบัญชีเดินสะพัด และเสถียรภาพทางการเงิน เพราะแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากนี้ไปจะมีมาก ทั้งจากเงินทุนไหลเข้าและการใช้จ่ายของรัฐบาล

สําหรับระยะยาว นโยบายรัฐควรเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจส่งออกและยกระดับความสามารถในการผลิตของประเทศ เพื่อขยายอุปทานให้ทันอุปสงค์ที่กําลังขยายตัว แต่ถ้าไม่ทํา ไม่ปฏิรูป การขยายตัวของเศรษฐกิจที่กําลังเกิดขึ้นก็จะไปได้ไม่ไกล และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจก็จะมากขึ้น

นี่คือความเห็นที่ผมให้ไป.

ค่าเงินบาท ดอกเบี้ย และเงินทุนไหลเข้า | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]