มองการเห็นต่างระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. | ไสว บุญมา
ความมีอิสระในการทำงานของธนาคารกลาง เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี ที่ชาวโลกส่วนใหญ่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ธนาคารกลางซึ่งในกรณีของไทย ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ธปท. มีหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงิน รวมทั้งการตั้งอัตราดอกเบี้ยและดูแลรักษาเงินสำรองของประเทศ ผู้บริหารและพนักงานของธนาคารกลางเป็นผู้รอบรู้ด้านเศรษฐกิจและการเงินที่ทำงานบนฐานของหลักวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้ใช้ระบบตลาดเสรี
หลังรัฐบาลที่ผ่านมาเข้าบริหารบ้านเมืองเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 รัฐบาลกับ ธปท. เห็นต่างทั้งการตั้งอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. และด้านโครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นมีกิจการด้านสร้างที่อยู่อาศัยขาย จึงมีผู้มองว่าการกดดันให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยมิใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น หากเพื่อเอื้อกิจการของเขาด้วย
เป็นที่ประจักษ์ว่า ความเห็นต่างทางด้านอัตราดอกเบี้ยเป็นประเด็นเล็กเมื่อเทียบกับด้านการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งตามที่รัฐบาลประกาศไว้ไม่มีกฎหมายรองรับ หากเปลี่ยนมาใช้เงินงบประมาณจะต้องมีการเพิ่มหนี้กองใหญ่ หรือร้ายยิ่งกว่านั้น (แต่ไม่มีการอ้างถึง) ยืมจาก ธปท. ซึ่งมีค่าเท่ากับการพิมพ์เงินตราจำนวนมหาศาล
ทั้งสองทางมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งกว่านั้น การแจกเงินเป็นมาตรการประชานิยมแบบเลวร้าย ซึ่งเมื่อพอกพูนต่อไปจะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่ประเทศในแนวที่เกิดในอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา
ความเห็นต่างระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. มีผู้มองว่าทำให้รัฐบาลพิจารณาหาทางปลดผู้ว่าการ ธปท. แต่นายกรัฐมนตรีมีอันต้องถูกปลดเสียก่อน
การมีรัฐบาลใหม่มิได้ทำให้ความเห็นต่างระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. ลดลง ตรงข้ามมันดูจะเพิ่มความเข้มข้น รัฐบาลเปลี่ยนจากการแจกเงินดิจิทัลมาเป็นการแจกเงินสด ซึ่งจะเพิ่มหนี้กองใหญ่ให้เป็นภาระของผู้เสียภาษีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
นอกจากนั้น เมื่อธนาคารกลางอเมริกันลดอัตราดอกเบี้ย แต่ ธปท. ไม่ลดตามทันที ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลไม่พอใจเพราะมันจะทำให้การส่งออกยากขึ้นส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นง่อย
ความเห็นต่างดังกล่าวส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลจะส่งผู้ที่จะสนองฝ่ายการเมืองแบบไร้เงื่อนไขไปเป็นประธานคณะกรรมการและผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวาระของทั้งสองหมดลง หากเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์หลายอย่างอาจเกิดขึ้นรวมทั้งการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้ฝ่ายการเมืองทำอะไรๆ ได้ตามความประสงค์
การหมดอิสระที่จะดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ย่อมละเมิดองค์ประกอบสำคัญของระบบตลาดเสรี ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของชาวโลกต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับด้านมาตรการที่จะสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง ที่กำลังสั่งสมมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายอาจ ได้แก่ สิ่งที่อาร์เจนตินาทำ นั่นคือ นำเงินสำรองกองใหญ่ออกมาใช้ปิดงบประมาณ หลังจากเงินสำรองหมดและหายืมต่อไม่ได้ก็ให้พิมพ์เงินตราเพิ่ม มาตรการเหล่านั้นมีผลทำให้อาร์เจนตินาล้มละลายเมื่อปี 2499 และล้มลุกคลุกคลานหลังจากนั้นมา
ในอนาคตอันใกล้ การนำเงินสำรองออกมาใช้ปิดงบประมาณอาจไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เงินสำรองกองใหญ่ที่อยู่ในการดูแลของ ธปท. สร้างแรงจูงใจให้ฝ่ายการเมืองมองว่าตนน่าจะนำบางส่วน หรือทั้งหมดออกมาบริหารจัดการเอง รวมทั้งผ่านการตั้งกองทุนมั่งคั่งในแนวที่มีอยู่ในหลายประเทศ
รัฐบาลอาจอ้างว่า การบริหารจัดการเงินสำรองของรัฐบาลจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าการบริหารจัดการของ ธปท. เรื่องนี้มีความเป็นไปได้เนื่องจากโดยทั่วไปธนาคารกลางเน้นการมีความเสี่ยงน้อยเหนืออัตราค่าตอบแทนที่จะได้จากเงินสำรอง
แต่สิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ตระหนักได้แก่ ความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งซึ่งนอกเหนือจากความเสี่ยงทั่วไปในการนำเงินสำรองไปลงทุน นั่นคือ ความเสี่ยงจากนักการเมืองและพวกพ้องจ้องเบียดบังเอาไปใส่กระเป๋าของพวกตน
การเบียดบังอาจทำได้หลายทางรวมทั้งการจ้างพวกตนเป็นกรรมการ ผู้บริหารและที่ปรึกษาด้วยค่าตอบแทนสูงเป็นพิเศษและการลงทุนแบบไม่หวังเงินปันผลในกิจการของพวกตนเอง
ไม่ว่ามาตรการจะเป็นอย่างไร การทำให้ ธปท. ขาดอิสระในการทำงานจึงมีแต่เสียกับเสีย.