มองลึก 'เวอร์ชวลแบงก์' เปลี่ยนภาพโลกการเงิน นำบริการทางการเงินเข้าถึงผู้คน
หลายคนมองว่า Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา กำลังจะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อ "ภาคการเงินไทย" และเริ่มเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ "โลกการเงินบนดิจิทัลแบบ 100%"
"ธนาคารแห่งประเทศไทย" หวังจะใช้ Virtual Bank เปิดโอกาสให้ "บริการทางการเงิน" เข้าถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved และ Unserved ทั้งรายย่อย และ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินเพียงพอหรือตรงกับความต้องการมากนัก รวมถึงกระตุ้นให้ภาคการเงินเกิดการแข่งขันกันอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงินในวงกว้าง
นี่อาจจะเป็นก้าวสำคัญของภาคการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้ ตัวชี้วัดสำคัญของการจัดตั้ง Virtual Bank ที่มีศักยภาพและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกครั้งนี้จะมีอะไรบ้าง
หากมอง Virtual Bank ที่เห็นประสบความสำเร็จแล้วในต่างประเทศ องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้มีทั้งฐานลูกค้า เทคโนโลยี และข้อมูลที่พร้อมต่อการให้บริการแบบดิจิทัล
นอกจากการให้บริการบนดิจิทัลจะทำให้ Virtual Bank เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และระยะทางแล้ว การมีแพลตฟอร์มใน Ecosystem ที่มีฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่ยังทำให้สามารถสร้างฐานลูกค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในต้นทุนที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับธนาคารในรูปแบบเดิม นำไปสู่อัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าธนาคารรูปแบบเดิม ทำให้บริการทางการเงินของ Virtual Bank เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ไม่ประจำ
อีกปัจจัยความสำเร็จคือ การนำข้อมูลในระบบนิเวศมาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อพัฒนาและนำเสนอบริการทางการเงินอย่างตรงใจและเหมาะสม โดยเฉพาะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดย Virtual Bank ที่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเองอยู่แล้วจะมีข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจ การจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนพฤติกรรมบนแพลตฟอร์มของลูกค้าในหลากหลายมิติ สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้แบบเรียลไทม์
หนึ่งในผู้ให้บริการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการให้บริการ Virtual Bank และมี Ecosystem ที่แข็งแกร่ง คือ Rakuten Bank ที่ถือเป็นธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร และมีธุรกิจใน Ecosystem หลากหลายที่มีฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก ครอบคลุมบริการด้านอีคอมเมิร์ซ เกมมิ่ง ธุรกิจสื่อและการสื่อสาร ฟินเทค และการท่องเที่ยว
Rakuten Bank ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขยายฐานลูกค้าด้วยต้นทุนที่น้อยกว่าธนาคารดิจิทัลอื่นๆ ในญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน Rakuten Bank มีลูกค้าจำนวน กว่า 16 ล้านบัญชีและมีการเติบโตของยอดเงินฝากถึง 16% ต่อปี ซึ่งเติบโตเร็วว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ Rakuten Bank ยังใช้อีคอมเมิร์ซในเครือสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานและกระตุ้นพฤติกรรมทางการเงินที่ดี เช่น การมอบข้อเสนอพิเศษบนอีคอมเมิร์ซให้กับลูกค้าที่ใช้บริการด้านออมทรัพย์
ในประเทศไทย มี 5 กลุ่มบริษัทที่สมัครขอใบอนุญาต Virtual Bank โดยแต่ละกลุ่มต่างมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง ทั้งนี้ ดูจะมีกลุ่มของ Sea Group ที่ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ (BBL), VGI, เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ท้าชิงที่มีความคล้ายคลึง เนื่องจาก Sea Group มี Shopee หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย นอกจากนี้ ยังมีโมบายวอลเล็ต ShopeePay และธุรกิจเกมออนไลน์ Garena ที่มีเกมฮิต เช่น RoV และ Free Fire ทำให้กลุ่มนี้มีแพลตฟอร์มดิจิทัล และเครือข่ายที่หลากหลายของกลุ่มบริษัท ซึ่งเข้าถึงผู้คนได้ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ Sea Group ยังเป็น 1 ใน 2 องค์กรที่ได้รับไลเซนส์ประเภท Digital Full Bank จากองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ รวมถึงได้รับไลเซนส์ Digital Bank จากธนาคารกลางมาเลเซียมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม Ecosystem ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะ "เทคโนโลยี" เป็นอีกหัวใจสำคัญที่ทำให้ Virtual Bank ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดี โดย Customer Journey ของ Virtual Bank ในอุดมคติควรเข้าถึงและเข้าใจง่าย สะดวก รวดเร็ว และราบรื่น ผู้ใช้งานควรทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การเปิดบัญชีไปจนถึงการเปิดใช้งานผลิตภัณฑ์ การเบิกจ่าย การชำระคืนต่างๆ
เทคโนโลยีเบื้องหลัง Virtual Bank มีหลากหลาย เช่น เทคโนโลยียืนยันตัวตนแบบดิจิทัล, โมเดลการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ, ระบบแจ้งเตือนลูกค้าเพื่อให้ชำระเงินอย่างตรงเวลา, โมเดลวิเคราะห์ข้อมูล และ Alternative Data ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็นได้อย่างตรงความต้องการและทั่วถึงยิ่งขึ้น ตลอดจนระบบ Fraud Detection ที่ทำหน้าที่ตรวจจับและป้องกันการทุจริต
Virtual Bank ยังต้องมีโครงสร้างเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้มีความเสถียร ปลอดภัย รองรับการใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และรองรับการขยายตัวของฐานลูกค้าจำนวนมากได้ โดยไม่ทำให้การให้บริการหยุดชะงัก
ด้านการกำกับดูแล ทางธนาคารแห่งประเทศไทยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า Virtual Bank จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มผู้ท้าชิงไลเซนส์ Virtual Bank ที่มีประสบการณ์การทำธุรกิจธนาคารในประเทศไทยอยู่เดิมแล้วจะได้เปรียบด้านความเชื่อมั่น โดยเฉพาะด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปิดให้มีการขอไลเซนส์ Virtual Bank ของธปท. สร้างความตื่นตัวเป็นอย่างมากให้กับแบงก์และนอนแบงก์ ส่งผลให้ "การเข้าถึงบริการทางการเงิน" เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน
สุดท้ายแล้ว ผู้สมัครทุกรายต่างมีจุดแข็งและไม่ว่าไลเซนส์ Virtual Bank จะอยู่ในมือของใคร เชื่อว่าการมี Virtual Bank จะส่งผลดีต่อประเทศไทยและผู้ใช้บริการทั้งสิ้น เพราะในยุคที่ผู้คนมีความกังวลในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเงิน ผนวกด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่คลี่คลาย หลายคนคงหวังว่า Virtual Bank จะนำมาซึ่งนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และเป็นประตูบานใหม่ในการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น เพื่อช่วยให้คนไทย และ SMEs ไทยดำเนินชีวิตและธุรกิจได้อย่างราบรื่นและมั่นคงยิ่งขึ้น ท่ามกลางความท้าทายที่ยังถาโถมเข้ามาในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง