ไฮโดรเจนสีเขียวและความท้าทายในบริบทประเทศไทย
ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นจุดเริ่มต้นของทางเลือกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
จากการวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น และความมุ่งมั่นของนานาประเทศในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาในเวทีนานาชาติในการดำเนินนโยบายและกำหนดเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงความพยายามในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดและคาร์บอนต่ำที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรืองกระจกเป็นอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม
เช่น การลดการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในระยะสั้นและหยุดการผลิตในระยะยาว การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการส่งเสริมการผลิตพลังานคาร์บอนต่ำในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ไฮโดรเจนสีเขียวมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่นการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ และ ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก
จากรายงานของดีลอยท์ ในเรื่องทิศทางของไฮโดรเจนสีเขียว (Global Hydrogen Outlook 2023) ระบุว่า ในการที่จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 นั้น ต้องพัฒนาตลาดไฮโดรเจนสีเขียวและเพิ่มการผลิตให้ถึง 172 และ 598 ล้านตันภายในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ ซึ่งเทียบได้เท่ากับ 85% ของความต้องการในการใช้ไฟฟ้าในปี 2019 (22,850 TWh (Terrawatt-hour เทราวัตต์-ชั่วโมง)) ซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันราคาของไฮโดรเจนสีเขียวมีราคาสูงกว่าพลังงานฟอสซิลอย่างมาก ดีลอยท์ได้ประมาณค่าเฉลี่ยต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวต่อหน่วยอยู่ที่ 3.1 และ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโล ในปี 2025 และ 2050 ตามลำดับ เทียบกับค่าเฉลี่ยต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อหน่วย ที่อยู่ที่ 1.7 และ 2.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโล ในปี 2025 และ 2050 ตามลำดับ
ซึ่งราคาอาจจะมีการผันแปรตามหลักภูมิศาสตร์และนโยบายการสนับสนุน เช่น ประเทศที่มีความได้เปรียบในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น เวียดนาม ไต้หวัน หรือภูมิภาคที่มีนโยบายกำหนดการปล่อยปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายภาพอุตสาหกรรมเช่นสหภาพยุโรป ประเทศที่คาดว่าจะเป็นผู้ส่งออกหลักของไฮโดรเจน ในปี 2050 ได้แก่ ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ส่วนประเทศจีน อินเดีย และสหภาพยุโรป คาดว่าจะเป็นประเทศที่นำเข้าไฮโดรเจนเพื่อสนับสนุนความต้องการของตลาดภายในประเทศ
ในบริบทของประเทศไทย ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นจุดเริ่มต้นของทางเลือกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และได้กำหนดหมุดหมายในการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนอย่างแพร่หลายในปี 2045 โดยในระยะเริ่มต้นได้มีความร่วมมือจากทางภาครัฐและเอกชนในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น การกำหนดเป้าหมายในการใช้ไฮโดรเจนผสมในก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าตามแผนพลังงานแห่งชาติ โครงการต้นแบบในการขนส่งจากสนามบินอู่ตะเภาโดยใช้รถพลังงานไฮโดรเจนและสถานีเติมเชื้อเพลิง และการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นต้น
อย่างไรก็ตามการถอดบทเรียนในการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนสีเขียวในต่างประเทศ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศไทยในอนาคตได้ โดยพิจารณาปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จจากประเทศที่ตลาดไฮโดรเจนมีการพัฒนาแล้ว อาทิ นโยบายสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียว เช่น เครดิตภาษีและเงินลงทุนแบบให้เปล่า เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการผลิตและการเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถรองรับไฮโดรเจนสีเขียวในการเป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบต้นน้ำ ผู้ซื้อที่ยอมรับราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงกว่าพลังงานฟอสซิลเพื่อใช้ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงาน เช่น นโยบายการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาในการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าสีเขียวสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และกองทุนสนับสนุนนวัตกรรมของสหภาพยุโรปได้ให้เงินทุนสนับสนุนการเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้รองรับไฮโดรเจนสีเขียวและรวมไปถึงการประกันราคาส่วนต่างของคาร์บอนในโครงการผลิตไฮโดรเจน เป็นต้น
ถึงแม้ว่าความต้องการไฮโดรเจนสีเขียวจะมีมากในระยะยาว แต่ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนี้ยังไม่สามารถทำให้ต้นทุนไฮโดรเจนสีเขียวแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ความยุ่งยากและซับซ้อนในการขอการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนในรูปแบบของการสนับสนุน หรือการประกาศนโยบายแต่ยังไม่มีรายละเอียดรองรับ ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทชั้นนำหลายบริษัทมีการทบทวนแผนกลยุทธ์และชะลอการลงทุนโครงการไฮโดรเจนสีเขียวในภูมิศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น บริษัทเชลล์ได้ยกเลิกการลงุทนในสถานีเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กในรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากปัจจัยด้านราคาและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้การพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยต้องมีการพิจารณาเตรียมความพร้อมทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถปรับตัวเข้ากับเชื้อเพลิงสีเขียวเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการก้าวไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต
Reference: https://www.deloitte.com/global/en/issues/climate/green-hydrogen.html