ธุรกิจสายมู รับกระแสมูเตลู กับรายได้ที่ต้องเสียภาษี
กระแสธุรกิจมูเตลูมาแรง โดยรายได้จากการทำธุรกิจในสายนี้ไม่ได้ถูกยกเว้นภาษี นั่นหมายความว่าหากใครมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการในธุรกิจสายมู ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น
เมื่อกระแสมูเตลูมาแรง ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง โหราศาสตร์ หมอดูฮวงจุ้ย ไพ่ยิปซี วัตถุมงคลเครื่องราง หินมงคล หยก ตะกรุด สีมงคล ตัวเลข เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถ Wallpaper มือถือ เคสโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่ง จะเห็นได้ว่ามีหลายช่องทางให้สายมูได้เลือกใช้บริการ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดเป็นช่องทางการหารายได้จากความเชื่อเหล่านี้ขึ้นอย่างแพร่หลาย
ดังนั้น ผลที่ตามมาคือเมื่อผู้มีรายได้เข้าสู่ธุรกิจมูเตลูแล้ว รายได้จากการทำธุรกิจในสายนี้ แม้จะดูเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อส่วนบุคคล แต่ในแง่ของการดำเนินธุรกิจและการจัดการภาษี ก็ไม่ต่างจากธุรกิจประเภทอื่นๆ จึงไม่ได้ถูกยกเว้นภาษี
นั่นหมายความว่าหากใครมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการในธุรกิจสายมู ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษี โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย และเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
ลักษณะธุรกิจสายมูเตลูที่ต้องเสียภาษี
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ระบุว่าธุรกิจความเชื่อมีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็กทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็นบริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย
และยังไม่นับรวมบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจสายความเชื่อทั้งรายเล็กรายใหญ่อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งแบ่งลักษณะธุรกิจสายมูเตลูที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีได้ดังนี้
- ขายเครื่องรางของขลังเกี่ยวกับสายมู เช่น พระเครื่อง ตะกรุด ปี่เซี้ยะ ลูกแก้วคริสตัล จี้มงคล กระจกแปดเหลี่ยม หินนำโชค
- ขายเครื่องประดับเครื่องหอมสายมู เช่น เทียนหอม ธูปมงคล เครื่องหอมสำหรับพิธีกรรม อัญมณีมงคล น้ำหอมเสริมดวง
- ท่องเที่ยวสายมู เช่น ทัวร์ทำบุญเสริมดวง ทัวร์ไหว้พระ
- บริการสายมู เช่น ให้คำปรึกษาฮวงจุ้ยบ้านและที่ทำงาน เสริมดวง สะเดาะเคราะห์ ไพ่ยิปซี โหราศาสตร์ ดูดวงออนไลน์
- เทคโนโลยีสายมู เช่น แอปพลิเคชันดูดวง ตั้งชื่อ ทำนายอนาคต
- คอร์สเรียนสายมู เช่น สอนดูดวง สอนดูเลขศาสตร์ สอนโหราศาสตร์จีน สอนดูไพ่ยิปซี
- การตลาดและที่ปรึกษาสายมู เช่น ที่ปรึกษาการตั้งชื่อธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เสริมดวง บริการดูฤกษ์ยามเปิดร้าน หรือการออกแบบโลโก้ตามหลักมงคล
ธุรกิจสายมูเตลู มีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจสายมูเตลูเป็นบุคคลธรรมดา จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะของรายได้ที่ได้รับ คือ
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือมาตรา 40(2) คือ ไม่ได้ทำเป็นกิจจะลักษณะ ทำคนเดียว ไม่มีทีมงาน และค่าใช้จ่ายไม่สูง เช่น เปิดสำนักดูดวงแบบไม่เป็นทางการ รับดูดวงเป็นครั้งๆ ทั้งแบบดูผ่านทางโซเชียล โทรศัพท์ หรือนัดเจอตัว ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เสียภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม และยื่นแบบออนไลน์ถึงวันที่ 8 เมษายน ของปีถัดไป
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) คือ มีการเปิดทำแบบจริงจัง มีทีมงาน รายจ่ายสูง เช่น เปิดเป็นสำนักดูดวง มีการลงทุนหาเครื่องมือ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ 2 รอบ คือ
1) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เสียภาษีเงินได้ครึ่งปี โดยมีกำหนดยื่นวันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน ของทุกปี
2) ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 เสียภาษีสิ้นปี ภายในวันที่ 31 มีนาคม และยื่นแบบออนไลน์ถึงวันที่ 8 เมษายน ของปีถัดไป
โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรได้ และหากมีค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บุตร อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เบี้ยประกันชีวิต เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีผู้ประกอบการสายมูเตลูได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หากมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้ยกเว้นภาษีกำไร 300,000 บาทแรก และเสียภาษีในอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 20%
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่เก็บจากการขายสินค้าหรือบริการ เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจสายมูเตลูมีผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยเฉพาะบริการดูดวงเข้าข่ายเป็นธุรกิจบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหลังจากที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% และทุกครั้งที่มีการดูดวงต้องออกใบกำกับภาษี พร้อมกับทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายมูเตลูที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่ 1% - 5% ขึ้นอยู่กับประเภทเงินที่จ่าย และธุรกิจสายมูจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ในกรณีที่นิติบุคคลจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการธุรกิจสายมูเตลู
สรุป...ธุรกิจสายมูเตลู (ความเชื่อ) ไม่ได้ยกเว้นภาษี
แม้ว่าธุรกิจสายมูเตลูจะมีลักษณะต่างจากธุรกิจโดยทั่วไป แต่ในมุมของภาษีนั้นไม่ต่างกัน หากมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ขึ้นอยู่กับเงื่อนของแต่ละประเภทภาษี
นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องไม่ลืมออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกค่าปรับ ที่สำคัญเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายไว้ให้ครบเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีได้
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting