ค่าเงินบาทวันนี้ 16 เม.ย.68 ‘แข็งค่า‘ ราคาทองปรับขึ้นหนุน

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 เม.ย. 68 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ผันผวนตามดอลลาร์และราคาทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.35-33.60 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.56 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน) มองกรอบค่าเงินบาท สัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.80 บาทต่อดอลลาร์
กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.60 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ของไทย เงินบาท (USDTHB) โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.41-33.74 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีการเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าเงินดอลลาร์จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง แต่ก็ยังคงเผชิญแรงขายจากบรรดาผู้เล่นในตลาดอยู่ ท่ามกลางความเชื่อมั่นต่อการถือครองสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ถูกสั่นคลอนจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ เงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าเพิ่มเติม หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อีกครั้ง อย่างไรก็ดี แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน (Positive Correlation)
ทว่า หากผู้เล่นในตลาดกลับมาไล่ราคาซื้อทองคำ ในจังหวะราคาทองคำปรับตัวขึ้น (หลังส่วนหนึ่งอาจขายทำกำไรทองคำไปพอสมควรแล้ว) ก็อาจทำให้ ความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำเปลี่ยนไปได้ เช่น เดิม การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่า กลายเป็น การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมไล่ซื้อทองคำ
แนวโน้มของค่าเงินบาท
โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทยังมีกำลังอยู่ แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอแถวโซนแนวรับ 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีนและราคาทองคำ อย่างใกล้ชิด ขณะที่ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นอาจมีความผันผวนอยู่ ขึ้นกับบรรยากาศในตลาดการเงินว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ต่อเนื่องหรือไม่
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way risk ตาม “ความเชื่อมั่น” ของผู้เล่นในตลาดต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งจะขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมากกว่าคาด หลังความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ถูกสั่นคลอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อีกทั้ง ราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และจีน พร้อมรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมีนาคม นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสราว 40% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ และอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง ในปีหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ ทว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างเต็มที่ในช่วงนี้
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.25% ท่ามกลางแรงกดดันต่อเศรษฐกิจยูโรโซนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference หลังรับรู้ผลการประชุม ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ย ได้อีกราว 3-4 ครั้ง ในปีนี้ (รวมการลดดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้) ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนมีนาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE ก็มีโอกาสลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้ง ในปีนี้ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แม้จะไม่ได้กดดันเศรษฐกิจอังกฤษโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เศรษฐกิจอังกฤษอาจเผชิญแรงกดดันจากผลกระทบทางอ้อมจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจโตชะลอลง และความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง กระทบต่อแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนได้
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2025 รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีกและยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เป็นต้น ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ในเดือนมีนาคม ในส่วนของนโยบายการเงิน เราคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% เพื่อรอประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่อาจชะลอลงจากปัจจัยกดดันภายนอกและภายใน (ความวุ่นวายการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคเอกชน) อาจหนุนให้ BOK มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยราว 1-2 ครั้ง ในปีนี้ได้
▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามท่าทีของรัฐบาลไทยในการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อประเมินโอกาสที่ทางการสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราภาษีนำเข้าให้กับสินค้าไทย หลังครบกำหนดการระงับมาตรการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น เรายอมรับว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “เร็ว แรง” กว่าที่เราประเมินไว้ หลังเงินบาทไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ โดยในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways
ทว่า ความผันผวนของเงินบาทอาจยังคงอยู่ในระดับที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าชัดเจน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึง ความผันผวนของบรรดาสินทรัพย์ที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร ทั้ง เงินหยวนจีนและราคาทองคำ อนึ่ง เงินบาทจะกลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่าได้อีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจถูกชะลอลงได้บ้างแถวโซนแนวรับ 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้นำเข้าและโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ (แนวรับสำคัญถัดไป 33.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านจะอยู่แถว 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์