‘สโตนวัน’ ลุยระดมทุนเม.ย.นี้ เดินหน้า ‘ซื้อเหมืองใหม่’ หวังเร่งสปีดการโต
"สโตนวัน" เดินหน้าระดมทุน 26 เม.ย. นี้ ในราคาหุ้นละ 3 บาท พร้อมโชว์ "จุดเด่น" เป็นธุรกิจต้นน้ำ ยังไม่มีวัตถุดิบมาทดแทน เร่งสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ! สะท้อนผ่านเงินไอพีโอ ลุย “ซื้อเหมืองหินและแร่” มูลค่า 500 ล้านบาท
รัฐบาลกำลังเริ่มขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจด้วย “การลงทุน” โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเชื่อม 3 สนามบิน , โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ,โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งทุกโครงการลงทุนล้วนมีวัตถุดิบอย่าง “หิน” เป็นหนึ่งในการก่อสร้าง และหนึ่งในบริษัทน้องใหม่ไอพีโอที่กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้รับอานิสงส์บวกดังกล่าว
บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ STX ผู้ประกอบการ “ยักษ์ใหญ่” ในวงการผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและแร่โดโลไมต์ กำลังจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 65 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.16% ของจำนวนหุ้นหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 1 บาท ในราคาหุ้นละ 3 บาท คาดจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 26 เม.ย. 2567 นี้
ด้วย “3จุดเด่น” ของหุ้น STX นั่นคือ 1. เป็นธุรกิจต้นน้ำ และยังไม่มีวัตถุดิบอื่นๆ มาทดแทนหินได้ ดังจะเห็นสัดส่วนลูกค้าเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่สัดส่วนกว่า 50% ของพอร์ต 2. มีคู่แข่งจำนวนน้อยราย ซึ่งไม่มีใครมาตั้งเหมืองใกล้ๆ ดังนั้น ธุรกิจจะไม่โดนดิสรัป และ 3. เป็นวัตถุดิบที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้น จะเห็นว่าราคาหินย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราคาจะปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10% !!
การกลับมาในตลาดหุ้นอีกครั้งในรอบ 15 ปี ! ของ “จเรรัฐ ปิงคลาศัย” รองประธานกรรมการ และประธานบริหาร บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ STX ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มาในฐานะ “ผู้ลงทุน” ที่กำลังจะนำ “สโตนวัน” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 10 บริษัท ที่ก่อตั้งธุรกิจและมองเห็นทิศทางการเติบโตก้าวกระโดดในอนาคต หากมีเงินลงทุนเพื่อขยายการเติบโต !!
การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ ! เพื่อต้องการสร้างการเติบโต สะท้อนผ่านเงินระดมทุน “ซื้อเหมืองหินและแร่” มูลค่า 500 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่ชลบุรี-ระยอง เป็นหินปูนกับหินแกรนิต และที่เหลือเพื่อใช้เป็น “เงินทุนหมุนเวียน” สำหรับการดำเนินธุรกิจ
สอดรับกับโครงการ EEC ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่คาดการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีความต้องการ (ดีมานด์) การใช้หินประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณหินอยู่แค่ 10 ล้านตันต่อปี ดังนั้น การที่บริษัทระดมทุนเพื่อนำเงินไปซื้อเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรองรับความต้องการใช้หินเป็นส่วนประกอบงานก่อสร้าง
“ใน 10 ปีข้างหน้า โครงการ EEC บอกว่าต้องใช้หิน 100 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ EEC มีปริมาณหินแค่ 10 ล้านตัน หากลงทุนต้องใช้เวลา 3 ปี”
ณ ปัจจุบัน STX และ บริษัท ราชบุรี เอ็นเตอร์ไพสร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจเหมืองหินและแร่ โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตและชนิดหินปูน ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แร่โดโลไมต์ รวมถึงการให้บริการด้านขนส่งเพื่อการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ไซต์งานอย่างครบวงจร
“ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรม” เพื่อใช้ในการก่อสร้าง โดยปัจจุบันมีเหมืองหินและแร่รวม 2 แห่ง ได้แก่ เหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และ เหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ตั้งอยู่ที่พื้นที่เชื่อมต่อตำบลรางบัวและตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย
สำหรับหินอุตสาหกรรมเป็นหินที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ถนน เขื่อน และอื่นๆ โดยการนำไปใช้งานจะขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของหินที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับงานก่อสร้างต่างๆ โดยสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น การใช้ในงานผสมคอนกรีต งานทำถนน โรยทางรถไฟ ทำคันทางของถนนหรือเขื่อน หรือผสมยางมะตอย เป็นต้น
“ผลิตและจำหน่ายแร่โดโลไมต์ทั้งชนิดก้อนและชนิดผง” โดยบริษัทย่อยเป็นผู้ผลิตแร่โดโลไมต์ที่เหมืองจอมบึง ซึ่งแร่โดโลไมต์สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น การใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง งานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว งานผลิตกระจก งานการเกษตร และปศุสัตว์ เป็นต้น กำลังการผลิตรวมของโรงแต่งแร่โดโลไมต์เฟส 1 อยู่ที่ 6 แสนตันต่อปี และเฟส 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 2566 กำลังการผลิต 98,000 ตันต่อปี
“จเรรัฐ” เล่าต่อว่า ธุรกิจกำลังเป็น “ขาขึ้น” เพราะรัฐบาลสนับสนุนโครงการลงทุนใน EEC โดยธุรกิจของ STX มีการเติบโตตามการพัฒนาประเทศ และล่าสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นข่าวดีของบริษัทเพราะว่าเอกชนจะมีการลงทุนมากขึ้น ฉะนั้น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง “บูม” แน่นอน
ดังนั้น บริษัทมี “เป้าหมาย” จะขยายแหล่งวัตถุดิบและการผลิตในอนาคตเพื่อ “ต่อยอดธุรกิจ” หินอุตสาหกรรมเพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยการเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองหินที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว หรือการพัฒนาเหมืองหินใหม่ในที่ตั้งที่เหมาะสม โดยแต่ละเหมืองจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกัน ระยะห่างมากกว่า 150 กิโลเมตรเพื่อลดการแข่งขันกันเอง
ท้ายสุด “จเรรัฐ” บอกไว้ว่า ส่วนประเด็นที่บรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไม่เอื้อ ส่วนตัวไม่ค่อยสนใจเพราะมั่นใจหุ้น STX เป็นหุ้นพื้นฐาน หากย้อนดู 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการปันผลทุกๆ ปี ช่วงโควิด-19 ก็ปันผลซึ่งนโยบายปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไร