MEDEZE ลงสนามเทรดวันแรก 15 ต.ค.นี้ พบ เซียนหุ้น ดร.ไพบูลย์ - KAMART ถือหุ้นใหญ่

MEDEZE ลงสนามเทรดวันแรก 15 ต.ค.นี้  พบ เซียนหุ้น ดร.ไพบูลย์ - KAMART ถือหุ้นใหญ่

บมจ. เมดีซ กรุ๊ป ผู้นำการให้บริการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Banking) ด้วยมาตรฐานระดับสากล พร้อมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 15 ต.ค. นี้ มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 9,612 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ ว่า “MEDEZE” ล่าสุดพบ เซียนหุ้น ดร.ไพบูลย์ เข้าถือหุ้นใหญ่

บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เตรียมเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์ วันที่ 15 ตุลาคม 2567 

ทั้งนี้ จากรายงานตลาดหลักทรัพย์ พบว่า หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่มีเซียนหุ้นระดับแถวหน้าเมืองไทยเข้าถือด้วย อย่าง ดร.ไพบูลย์ เสรีวัฒนา เข้าถือหุ้นใหญ่ในลำดับ 5 จำนวน 10,000,000 หุ้น สัดส่วน 0.94% ขณะที่ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 6 จำนวน 9,750,000 หุ้น สัดส่วน 0.91% 

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 

1. กลุ่มครอบครัวเขมะรังสรรค์ 58.29% 

2. นพ. จำรัส สกุลไพศาล 13.84% 

3. รศ. ดร. รังสรรค์ พาลพ่าย 2.77%

MEDEZE ลงสนามเทรดวันแรก 15 ต.ค.นี้  พบ เซียนหุ้น ดร.ไพบูลย์ - KAMART ถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้ MEDEZE ประกอบธุรกิจให้บริการตรวจวิเคราะห์ คัดแยก เพาะเลี้ยง และรับฝากเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) สำหรับทารกแรกเกิด (สกัดจากเลือดและเนื้อเยื่อสายสะดือ) และบุคคลทั่วไป (สกัดจากเนื้อเยื่อไขมัน) มากว่า 14 ปี การให้บริการครอบคลุมการจัดเก็บด้วยการแช่แข็งเซลล์ต้นกำเนิดในระยะยาวมาตรฐานระดับสากล Association for the Advancement of Blood and Biotherapies (AABB) จากสหรัฐอเมริกา และต่อยอดการให้บริการครอบคลุมถึง การตรวจศักยภาพเซลล์คุ้มกัน (NK Cells) ด้วยทีมแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ MEDEZE ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศด้วยดีเสมอมา

โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 

1.บริษัท เมดีซ เอ็นเค จำกัด ดำเนินธุรกิจการให้บริการทดสอบศักยภาพเซลล์ภูมิคุ้มกัน หรือ NK Cells 

2.บริษัท เมดีซ คอสเมซูติคอล จำกัด ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามภายใต้ตราสินค้า DAA และอาหารเสริม 

3.บริษัท เมดีซวิจัยและพัฒนา จำกัด ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 

4.Medeze Treasury Pte. Ltd. ดำเนินธุรกิจเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน (Investment Company) โดยเป็นบริษัทที่ถือครองและบริหารตราสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ และ

5.Medeze Group Pte. Ltd. ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

โดยบริษัทมีศักยภาพสูงในการให้บริการด้วยถังไนโตรเจนเหลวทั้งหมด 30 ถัง มีความสามารถสูงสุดในการสกัดเลือด 2,880 เคส/ปี และสกัดเนื้อเยื่อ 4,560 เคส/ปี และมีความสามารถในการทดสอบศักยภาพของ NK Cells อยู่ที่ 1,920 เคสต่อปี ซึ่งมีพันธมิตรกับโรงพยาบาลในประเทศทั้งหมด 219 โรงพยาบาล มีตัวแทนจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ พม่า อินโดนีเซีย และกัมพูชา รวมถึงมีนักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรชั้นนำในวงการเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology จำนวนมาก

ส่งผลให้มีความแข็งแกร่งในด้านเครือข่ายแพทย์ในสถานพยาบาลชั้นนำ ไปจนถึงการมีห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อระดับคลีนรูม คลาส 100 พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยในวงการธนาคารจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิด หรือ Stem Cell Banking เข่น ระบบการแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลว เครื่องคัดแยกเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตอัตโนมัติ หรือ Auto Xpress และเครื่องเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคมอลชนิดอัตโนมัติ หรือ Quantum

ทั้งนี้บริษัทได้รับความไว้วางใจในระดับสากลด้วยมาตรฐานการจัดเก็บแช่แข็งในระดับสากล Association for the Advancement of Blood and Biotherapies (AABB) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานการดำเนินงานของธนาคารสเต็มเซลล์ที่เข้มงวด เป็นมาตรฐานระบบคุณภาพสากลตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา หรือ U.S.FDA

ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเลือดจากสายสะดือตั้งแต่การจัดเก็บในระยะยาว ไปจนถึงการกระจายขนส่งเพื่อรองรับการรักษาให้กับผู้ป่วยทั่วโลก และมาตรฐานห้องปฏิบัติการคุณภาพ Clean Room Class 100 ตั้งแต่ปี 2556 โดย National Environmental Balancing Bureau หรือ NEBB จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมาตรฐานควบคุมอนุภาค ความดัน และอุณหภูมิภายในห้องปฏิบัติการอย่างเหมาะสม

โดยภายหลังจากการระดมทุน MEDEZE มีแผนที่จะลงทุนขยายธุรกิจด้านเซลล์รากผม หรือ Hair Follicle Cell Bank ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเซลล์จากรากผม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นผม และหนังศีรษะ ที่มีแนวโน้มจะพบเจอมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัย และลงทุนติดตั้งระบบการจัดเก็บเซลล์ด้วยหุ่นยนต์ หรือ Robotic Cell Culture System ซึ่งเป็นนวัตกรรมขั้นสูงและล้ำสมัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ทำให้กระบวนจัดเก็บมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดความผิดพลาดของบุคคล และลดความเสี่ยงจากตัวแปรที่มาจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ยกระดับความน่าเชื่อถือทัดเทียมกับผู้ประกอบการชั้นนำทั่วโลก สามารถดึงดูดลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้มากขึ้น

อำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า MEDEZE มีทุนชำระแล้ว 534 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 268 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้แก่บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 201 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัท ไม่เกิน 40.20 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อย ไม่เกิน 26.80 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 2 - 4 ตุลาคม 2567 ที่ราคาหุ้นละ 9 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 2,412  ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 9,612 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

นพ.วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมดีซ กรุ๊ป เปิดเผยว่า การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตให้แก่บริษัท โดยมีแผนที่จะขยายธุรกิจเซลล์รากผม (Hair Follicle Cell Bank) และลงทุนติดตั้งระบบการจัดเก็บเซลล์ด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Cell Culture System) ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดนับเป็นหัวใจของการป้องกัน การรักษาโรค และการฟื้นฟูร่างกาย หรือแม้แต่การชะลอวัย โดยบริษัทมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมที่เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดของการให้บริการ เพื่อครองความเป็นผู้นำแห่งอุตสาหกรรมเซลล์ต้นกำเนิดที่ทันสมัยของประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน

พายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.เมดีซ กรุ๊ป (MEDEZE) เปิดเผยว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) เท่ากับ 35.55 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากกำไรสุทธิในรอบ 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งเท่ากับ 270.40 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ หรือ Fully Diluted ซึ่งเท่ากับ 1,068,000,000 หุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.25 บาทต่อหุ้น

“ราคาเสนอขายในครั้งนี้มีความสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจของ MEDEZE และแผนการนำเงินระดมทุนที่ได้จากประชาชนเป็นครั้งแรกไปใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต ถือว่ามีความเหมาะสมสำหรับนักลงทุน”