4 กลุ่มใหญ่ธุรกิจกระแสดี ซาอุฯ ปูพรมลงทุน (หนัก) ในไทยปี 65
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศมหาเศรษฐี “ซาอุดีอาระเบีย” กลับมาฟื้นสัมพันธ์กับประเทศไทยในรอบ 32 ปี ทำให้ปี 2565 มีการเปิดโอกาส และกระจายเงินลงทุนมาในไทยหลากหลายธุรกิจรวมไปถึงหุ้นในกลุ่มดังกล่าวเป็นเม็ดเงินมหาศาล
เริ่มเปิดศักราชปีนี้ด้วยภาพการเยือนซาอุดีอาระเบีย ของนายกรัฐมนตรี ในฐานะแขก ตามคำเชิญของ “ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด “ ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของซาอุดีอาระเบีย ถือว่าเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และเปลี่ยนแปลงประเทศจากธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียวไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีและการเงิน
แม้ว่าช่วงโควิด-19 เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำแต่ไม่ใช่ในพื้นที่ตะวันออกกลางเพราะ “ พี่ใหญ่” อย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งโลกอาหรับที่ยังมีการเติบโตทางจีดีพี และใช้นโยบายลดดอกเบี้ย
สำนักงานสถิติแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย รายงาน จีดีพี ในไตรมาส 3/2564 ขยายตัว 6.8% เทียบรายปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ตอบรับอุปสงค์พลังงานโลกที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เติบโตกิจกรรมด้านน้ำมัน 9 % รวมถึงการผลิตที่เพิ่มขึ้นของซาอุดีอาระเบียในปี 2564
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการเปิดโอกาสกลับมาเชื่อมสัมพันธ์กับไทยในครั้งนี้ จะเป็นการหนุนธุรกิจจำนวนมากตามมานับไม่ถ้วน
เริ่มแรกกลุ่มธุรกิจอาหารส่งออก และแปรรูป ได้ข่าวดีทันทีหลังองค์การอาหารและยา ซาอุดีอาระเบีย หรือ Saudi Food & Drug Authority (SFDA) อนุญาตให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยได้จาก 11 โรงงานผ่านการตรวจสอบได้ทันที ทำให้ทั้ง CP-GFPT-TFG ได้รับไฟเขียวทันที
ปัจจุบันซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน เป็นอันดับ 5 ของโลกการนำเข้าเนื้อไก่ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากบราซิล 70% ที่เหลืออีก 30% นำเข้าจากยูเครน และฝรั่งเศส ส่วนการส่งออกไก่ของไทยในปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลก 912,900 ตัน มูลค่าการส่งออกไก่แช่เย็น-แช่แข็ง-แปรรูปรวม 102,529 ล้านบาท
ถัดมา กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ที่สายการบินซาอุดี อาราเบียน แอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียทำการบินเข้าประเทศไทยจำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทำให้ภาคท่องเที่ยวตื่นตัว เพราะเส้นทางบินสามารถเชื่อมต่อจากเมืองริยาร์ด ซึ่งเป็นเมืองหลัก (Riyadh) และเจดดาห์ ซึ่งเป็นเมืองรอง (Jeddah) ทำให้ AOT ได้รับปัจจัยบวกโดยตรง
ด้วยสถิตินักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบียที่เดินทางเข้าประเทศไทย ย้อนหลัง พบว่า ปี 2560 มีนักท่องเที่ยว เข้ามาจำนวน 33,517 คน สร้างรายได้ 3,510 ล้านบาท , ปี 2561 จำนวน 28,334 คน สร้างรายได้ 2,615 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 30,002 คน สร้างรายได้ 2,716 ล้านบาท และปี 2563 มีจำนวน 4,125 คน และปี 2564 จำนวน 467 คน
นอกจากภาคท่องเที่ยวแล้วต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในหมู่ของนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบีย มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้เพิ่มสวัสดิการด้านสาธารณสุขให้ประชาชนมากขึ้น สอดคล้องที่ ครม. อนุมัติให้เพิ่มประเทศ ซาอุดีอาระเบีย เข้าประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อท่องเที่ยวได้รับการตรวจลงตรา และอยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 30 วัน นั้นหมายถึงกลุ่มหุ้นโรงพยาบาลพอร์ตต่างชาติทั้ง BH-BDMS
ล่าสุดประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย EEC เปิดเผยรัฐบาล และภาคเอกชนของประเทศซาอุดีอาระเบีย “เตรียมจะลงทุนในไทย” โดยกำหนดงบประมาณปี 2566 ปีเดียวสูงถึง 3 แสนล้านบาท กระจายในหลายอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเมดิคัลแคร์ อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียอยู่ในพื้นที่อีอีซี
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวมีนัย เพราะสูงกว่ายอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศงวด 9 เดือน ปี 2565 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เพียง 2.86 แสนล้านบาท และตัวเลขในปี 2562 (ก่อน COVID) ที่ 4.64 แสนล้านบาท และในปี 2564 ที่ 4.58 แสนล้านบาท เบื้องต้นคาดหนุน FDI ของไทยเฉลี่ยต่อปีมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉียดเท่าตัวเป็นภาพบวกต่อกลุ่มนิคมฯ ทั้ง AMATA, WHA
บล.เอเซีย พลัส เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาลงทุนที่ดีมากขึ้น หลังค่ายรถยนต์หลายเจ้าเตรียมใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV อีกทั้งซาอุดีอาระเบียสนใจลงทุนในไทยปีหน้า 3 แสนล้านบาท โดยกระจายในหลายอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว, เมดิคัลแคร์, อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเคมี
อุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียอยู่ในพื้นที่เขตอีอีซี นอกจากนี้ค่ายรถยนต์หลายแห่งยังเตรียมเลือก ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV อาทิ Honda, Toyota, Great Wall Motor และ BYD มั่นใจเป็นฮับในอาเซียนภายใน 2 ปี ประเด็นดังกล่าวเป็นบวกต่อหุ้น AMATA, WHA, BDMS, CENTEL, GPSC
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์