โบรก- กองทุน ประสานเสียง หุ้นไทยเดือนม.ค. ขึ้นต่อ แรงขาย LTF ไร้กระทบ
'กองทุน - โบรก' ประเมินเม็ดเงิน ‘LTF’ รอขายปีนี้ 2 หมื่นล้าน จับตาแนวต้านสำคัญบริเวณ 1,700 จุด บลจ.ทิสโก้ เชื่อแรงกดดันไม่สูง เหตุน่าจะทยอยขายตลอดทั้งปี บลจ.ไทยพาณิชย์ ฟันธงขายเพื่อโยกเข้าSSF-RMF-หุ้นต่างประเทศแทน ขณะที่ มอร์นิ่งสตาร์ แรงจูงใจถอนเงิน LTF มีไม่มาก
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ ( 3 ม.ค.) ปรับขึ้นแรง 10.31 จุด หรือ 0.62% ปิดที่ 1681.20 จุด มูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 64,998.07 ล้านบาท โดยปรับขึ้นในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นต่างประเทศ
แต่ปัจจัยที่สร้างความกังวลและเป็นแรงกดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย คือ แรงขายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ต้นปี 2560 ราว 25,000 ล้านบาท จะครบกำหนดขายปีนี้เป็นปีแรก โดยปกติแล้วจะมีเม็ดเงินไหลออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.นี้
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า แรงกดดันที่จะเกิดขึ้นจากการไถ่ถอนกองทุน LTF เดือนม.ค. 2566 น่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท หลังนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีการเข้าซื้อกองทุนนี้ในปี 2560 ยังคงประสบผลขาดทุนอยู่ อาจจะไม่มีแรงจูงใจในการขายมากนัก จึงยังไม่มีแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือนม.ค. 2566 ซึ่งคาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,620-1,700 จุด
นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า คาดจะเห็นแรงขายกองทุน LTF ในเดือน ม.ค. 2566 ยังคงเหมือนกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2560 อยู่ที่ 1,570-1,753 จุด และมีการซื้อสุทธิราว 100,000 ล้านบาท หากดัชนีฯปรับขึ้นมาแถว 1,700 อาจจะเห็นแรงขายทำกำไรได้ โดยรวมเราประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีเดือนม.ค. ที่1,604 -1,691 จุด
นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มการไถ่ถอนกองทุน LTF ปีนี้ ที่ครบกำหนด 25,000 ล้านบาท จะเป็นการทยอยขายตลอดทั้งปีเช่นเดียวกับปีก่อน ซึ่งปีก่อนครบกำหนดระดับ 20,000 ล้านบาท พบว่า พฤติกรรมนักลงทุนไม่ได้ขายทั้งหมด แต่การไถ่ถอนทั้งปีนั้นก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีปรับตัวขึ้น
“แรงขายกองทุน LTF เดือนม.ค. ยังไม่น่าตกใจ เพราะตอนนี้ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นก็จริง แต่ยังไม่หวือหวามากนัก หากทะลุ 1,750 จุดไปได้ คาดว่าเป็นจุดจูงใจขายมากกว่า แต่ยังไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทย คาดหวังปรับขึ้นต่อได้จากฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่องเช่นเดียวกับปีก่อน ที่มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าระดับ 200,000 ล้านบาท มากกว่าเมื่อเทียบกับแรงขายกองทุน LTF ระดับ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น”
ทั้งนี้ พบว่าพฤติกรรมนักลงทุนกองทุน LTF ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาว หากไม่มีความจำเป็นต้องการสภาพคล่องในช่วงนี้ เชื่อมั่นว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะยังไม่รีบร้อนไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่ครบกำหนดออกมา ในส่วนของบลจ.ทิสโก้ มีเม็ดเงินในกองทุน LTF ไม่มากนักระดับ1,000 ล้านบาท และคาดแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปีนี้ มีโอกาสปรับตัวขึ้นในกรอบ 1,700-1,800 จุด มีปัจจัยสนับสนุนทั้งฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า จีนทยอยเปิดประเทศ และการเลือกตั้งในประเทศเดือนพ.ค. เป็นต้น
นางสาวสุทธินีย์ ลิมปพัทธ์ ผู้บริหารกลุ่มจัดการลงทุนตราสารทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แรงขายกองทุน LTF ในปีนี้น่าจะใกล้เคียงปีก่อนได้ โดยมีแรงทยอยขายออกมามากในช่วงเดือนม.ค. -มี.ค.เท่านั้น
โดยพร้อมกันนี้แม้มีแรงขาย LTF ออกมาทำกำไรเมื่อดัชนีขยับขึ้น แต่มองว่าเป็นการขายออกแบบสับเปลี่ยนเข้ากองทุนอื่นๆ เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในปีนี้ เช่น กองหุ้นต่างประเทศ หรือยังคงถือครองในระยะยาวในกองทุนประหยัดภาษี อย่างกองทุน SSFและ RMF
ในส่วน บลจ.ไทยพาณิชย์ คาดว่าจะมีแรงขายกองทุน LTF ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้ เท่ากับปีก่อนที่ระดับ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ของแรงขายกอง LTF ทั้งระบบช่วงเวลาดังกล่าวราว 15,000-20,000 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังเหลืออีกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท
"นักลงทุนกลุ่มนี้ยังไม่รีบร้อน และรอติดตามดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ ซึ่งมีโอกาสขยับขึ้น โดยคาดอยู่ที่ 1,760 จุด ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ต่างชาติ และท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง "
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทุน LTF ในปีนี้มีเงินลงทุนที่ครบกำหนดก้อนใหม่ โดยเป็นเงินลงทุนในปี 2560 ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 15,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาสสุดท้าย 37,000 ล้านบาท หากเทียบระดับดัชนี ตลาดหุ้นไทย ในช่วงปลายปี 2560 ที่ระดับ 1,700 จุด กับปัจจุบันอาจไม่ใช่จุดที่มีแรงจูงใจให้มีการไถ่ถอนเงินลงทุนมากนัก
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนแต่ละกองทุน แต่โดยรวมน่าจะไม่กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยเท่าใดนัก เนื่องจากในช่วงสัปดาห์แรกของปีที่แล้วที่มีการขายเงินลงทุน มีมูลค่าเงินไหลออกสุทธิหลักร้อยถึง 2,000 ล้านบาทต่อวัน และทยอยออกที่มูลค่าน้อยลงในช่วงที่เหลือของปี ทำให้อาจไม่ได้มีนัยต่อมูลค่าการซื้อขายรายวันในตลาดหุ้นไทย