มุมมองไตรมาสแรกปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามที่คาดหวังหรือไม่?
ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ แต่ไม่ใช่กับประเทศไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อน
นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างคาดหวังว่าช่วงต้นปีนี้ ประเทศไทยน่าจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเติบโตสอดคล้องไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และจะกลับมามีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด และยังเป็นการเปิดประเทศอย่างเต็มตัวไม่ใช่การเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างที่เราต่างคาดการณ์ไว้ ซึ่งการที่จีนเปิดประเทศจะยิ่งเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ดูดีขึ้นไปอีก อีกทั้งในไตรมาสแรกของปี 2023 มีมาตรการช้อปดีมีคืนของภาครัฐที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องของการเลือกตั้งที่นอกจากจะช่วยกระตุ้นเรื่องการบริโภคแล้ว จากข้อมูลในอดีตยังชี้ให้เห็นว่า SET มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วง 3 เดือนก่อนเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้น่าจะมี Fund Flow เข้ามาในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เป็นประเด็นน่ากังวลตั้งแต่ปีที่แล้วก็ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยเงินเฟ้อของสหรัฐปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาประจำเดือนธ.ค.ลดลงอยู่ที่ระดับ 6.5% จากเดิมที่ระดับ 7.1% ในเดือนพ.ย.จากระดับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง น่าจะทำให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ FED เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยส่วนใหญ่แล้วนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดปี 2023 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5% จากปัจจุบันที่ 4.25-4.50% ในขณะที่ประเทศไทย การขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยบวกคอยสนับสนุนตลาดหุ้นอยู่มาก แต่จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาส 4 หลายแห่ง ต่างออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยผลประกอบของธนาคารพาณิชย์โดยรวมลดลง 26% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จึงเกิดคำถามขึ้นว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะมีแนวโน้มดีเหมือนที่คาดไว้หรือไม่ เนื่องจากทิศทางการเติบโตของธุรกิจธนาคารจะแปรผันไปตามวงจรเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้น ผลประกอบการของธนาคารที่ปรับลดลงอย่างมากในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา จะเป็นการชี้ให้เห็นหรือไม่ว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัว โดยเฉพาะกรณีของ KBANK ที่มีผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2022 ลดลงถึงเกือบ 70% ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีเดียวกันและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า
เนื่องจากมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นถึง 129% เมื่อเทียบ QoQ และเพิ่มขึ้น 138% เมื่อเทียบ YoY อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่กำไรก่อนการตั้งสำรองพบว่ายังคงเติบโตได้ดีเมื่อเทียบ QoQ และ YoY แต่เนื่องจากธนาคารกังวลว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิด Global Recession รวมถึงธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบางมากขึ้น จึงต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น
จากที่กล่าวไปข้างต้น แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังคงดูดี ทั้งปัจจัยสนับสนุนในประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และภาวะเงินเฟ้อที่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่จากผลประกอบการของธนาคารที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้เราอาจต้องคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบมายังประเทศไทยได้ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้อาจจะต้องคอยจับตามองต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มองว่าในไตรมาสแรกของปี 2023 เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี รวมถึงตลาดหุ้นก็น่าจะมีผลตอบแทนที่ดีสอดคล้องไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจเช่นกัน