เปิดสาเหตุ ‘จ้างงานสหรัฐ’ สุดแกร่ง ยอดผู้อพยพพุ่ง ส่อกดดันตลาดหุ้น
ตัวเลขภาคการจ้างงานสหรัฐสดใส หลังจากจำนวนผู้อพยพฯ และผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า สถิติเผยปีที่แล้วสหรัฐออกวีซ่าให้ต่างด้าวทั้งหมดมากถึง 7.3 พันล้านฉบับ จากปีก่อนหน้า 3.1 พันล้านฉบับ ด้านนักวิเคราะห์ชี้ต้องจับตาต่อไป เชื่อภาคการจ้างงาน-บริการ ยังตึงตัว
Key Points
- ภาคการจ้างงานของสหรัฐได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการกลับเข้าสู่ภาคแรงงานของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยส่งผลให้ค่าแรงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างสมเหตุสมผล
- นักวิเคราะห์ชี้การเพิ่มขึ้นของแรงงานเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐในภาพใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไม่รุนแรง
- อย่างไรก็ตามสหรัฐยังมีปัญหาคอขวดเรื่องการอนุมัติวีซ่า โดยจากสถิติของทางการพบว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน 4 คนจากทั้งหมด 5 คนเท่านั้นที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย
- ด้านนักวิเคราะห์ไทยมองต่าง ชี้ภาคการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการของสหรัฐยังคงตึงตัว
จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ที่มีนโยบายจำกัดอัตรการเข้าประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างเข้มข้น
ตรงกันข้าม ปัจจุบัน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามเร่งการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการอนุมัติ ‘การตรวจลงตรา’ หรือ วีซ่า พร้อมกับการขับเน้นหลักมนุษยธรรมมาเพื่อโอบรับผู้ลี้ภัยสงครามและผู้ลี้ภัยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัด
จากความพยายามข้างต้นส่งผลต่อเนื่องให้ประชากรต่างชาติที่เกิดใหม่ในสหรัฐ หรือ The foreign-born Population ขยับตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กังวลเรื่องการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านการขาดแคลนแรงงานน้อยลง
ทั้งนี้ รายงานตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐของเดือนม.ค. ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.พ.) ระบุว่า ภาคแรงงานมีการว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น 517,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นมาตรวัดสำคัญว่าตลาดยังคงต้องการแรงงานจำนวนมากให้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยแรงงานดังกล่าวมีส่วนช่วยให้อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างสมเหตุสมผล พร้อมกับส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (รีเซสชัน) ได้ยากมากขึ้น
ทอร์สเตน สลอค นักเศรษฐศาสตร์อาวุธโสของ อะพอลโล โกลบอล แมเนจเมนท์ บริษัทจัดการการลงทุนสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า “ปกติแล้วหากอัตราการจ้างงานลดลง สิ่งที่อาจตามมาคืออัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่อเมริกาขณะนี้กลับตรงกันข้าม ดังนั้นอาจมี ‘ปัจจัยบางอย่าง’ ที่ขับเคลื่อนภาคแรงงานอยู่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าปัจจัยดังกล่าวคือการกลับเข้ามาสู่ภาคแรงงานของผู้อพยพ”
“ปกติแล้วหากอัตราการจ้างงานลดลง สิ่งที่อาจตามมาคืออัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่อเมริกาขณะนี้กลับตรงกันข้าม ดังนั้นอาจมี ‘ปัจจัยบางอย่าง’ ที่ขับเคลื่อนภาคแรงงานอยู่ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าปัจจัยดังกล่าวคือการกลับเข้ามาสู่ภาคแรงงานของผู้อพยพ”
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า แม้ว่าตัวเลขผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐในภาพใหญ่ ทว่าปัจจุบันสหรัฐยังมีปัญหา ‘คอขวด’ เรื่องกระบวนการอนุมัติวีซ่าสำหรับผู้ที่ต้องการทำงาน โดยจากสถิติพบว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเพียง 4 คน จากทั้งหมด 5 คนเท่านั้นที่มีใบอนุญาตสามารถทำงานอย่างถูกกฎหมาย
อนึ่ง อัตราผู้อพยพย้ายถิ่นฐานแบบถูกกฎหมายยังต่ำกว่าอัตราเดิมในช่วงก่อนการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ และหากตามรายงานของศุลกากรแล้ว ขณะนี้มีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานหลายแสนคนกำลังรอเข้าสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่กงสุลเพื่อทำวีซ่าโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งยังมีคดีเกี่ยวกับการลี้ภัยอีกนับล้านที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งอาจใช้เวลานับปีในการสะสางคดีหนึ่งคดี
น่าสนใจว่าปัญหาเรื่องขั้นตอนและนโยบายสำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานอันยุ่งยากก็เป็นปัญหาหลักที่ ‘อัล ฟลอเรส’ ที่ปรึกษาทั่วไปสำหรับกลุ่มร้านอาหาร ‘เท็กซ์-เม็กซ์’ สัญชาติอเมริกัน ณ นครฮิวสตัน รัฐเท็กซัส และเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารดังกล่าวเช่นเดียวกัน และหากย้อนกลับไปในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มร้านอาหารเท็กซ์-เม็กซ์ได้ลดจำนวนพนักงานลงจำนวนหนึ่ง จากนั้นพนักงานที่ถูกปลดจึงพยายามหางานใหม่ หนึ่งในนั้นคือการเข้าสู่ภาคการก่อสร้าง แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การจะกลับมาจ้างพนักงานใหม่อีกครั้งก็กลายเป็นเรื่องยากเนื่องจากพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ ได้ย้ายถิ่นฐานกลับประเทศไปตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว
“แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การจะกลับมาจ้างพนักงานใหม่อีกครั้งก็กลายเป็นเรื่องยากเนื่องจากพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ ได้ย้ายถิ่นฐานกลับประเทศไปตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว”
ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานประมาณ 2,500 คน ซึ่งพนักงานอย่างน้อย 12% ทำงานภายใต้โครงการ ‘The Deferred Action for Childhood Arrivals’ ที่คุ้มครองและอนุญาตให้เยาวชนรวมทั้งวัยรุ่นซึ่งเป็นบุตรหลานของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐมีสิทธิในการทำงานศึกษาและอาศัยอยู่ในสหรัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพนักงานอีก 10% ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลสหรัฐในเงื่อนไขการหลี้ภัย โดยพนักงาน 10% นี้สามารถอาศัยอยู่ในสหรัฐได้เป็นเวลาหลายปี
“จริงๆ สถานการณ์ตอนนี้กลับขึ้นมาดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เท่าที่ผมสังเกตมีพนักงานที่ได้วีซ่าแบบถาวรน้อยลง แต่กลับได้วีซ่าชนิดชั่วคราวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากวีซ่าของผู้อพยพเหล่านั้นสิ้นสุดลง เขาก็ต้องเลือกทางเดินต่อไป หนึ่งในนั้นคือการเดินทางไปอีกประเทศหนึ่งที่รัฐบาลพร้อมอ้าแขนรับ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าของกิจการอย่างเราที่ต้องการแรงงานอย่างมาก”
กราฟแสดงการเปรียบเทียบจำนวนวีซ่าแบบถาวรและแบบชั่วคราวที่ออกในช่วงปี 2019-2022
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า ความเป็นไปของนโยบายการรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานแรงงานภายในประเทศ ซึ่งขยายตัวช้ามากอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อุปทานดังกล่าวขยายตัวช้าคือประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีบุตรน้อยซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐ (ซีบีโอ) ระบุว่า ภายในปี 2585 การเติบโตของประชากรในสหรัฐจะมาจากจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานสุทธิเท่านั้น
กราฟแสดงการเปรียบเทียบประชากรเกิดใหม่ของสหรัฐและผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ระหว่างปี 2008 - 2022
หากย้อนกลับไปในอดีต จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสหรัฐลดน้อยลงตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิปดี และเพียง 3 ปีถัดไป จํานวนอพยพ-ผู้ลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสหรัฐฯ ก็ลดลงจนกระทั่งเหลือ 15,000 คน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ประกอบกับการออกกฎหมายจำกัดการเข้าประเทศมากมาย หนึ่งในนั้นคือการห้ามผู้อพยพชาวมุสลิมเข้าประเทศ แม้ว่าภายหลังศาลสูงสุดสหรัฐจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากขัดกับหลักการสูงสุดของประเทศก็ตาม
อย่างไรก็ดี สถานการณ์กลับมาสดใสอีกครั้งหลังไบเดนเข้ารับตำแหน่ง โดยปี 2565 ทางการสหรัฐ รายงานว่า อัตราผู้ได้รับวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่าแรงงานชั่วคราว และวีซ่าผู้อพยพถาวรเพิ่มขึ้นถึง 7.3 พันล้านฉบับ ซึ่งขยับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 3.1 พันล้านฉบับ
มากไปกว่านั้น ปัจจุบันไบเดนยังมีนโยบายเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองผู้อพยพหลี้ภัยจากต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือผู้อพยพลี้ภัยจากยูเครน และอัฟกานิสถาน รวมทั้งอนุญาตให้พวกเขาสามารถทำในสหรัฐได้อย่างเสรี
ทั้งนี้ ในปี 2565 อัตรา ‘ประชากรหน้าใหม่’ ของสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี และจำนวนผู้อพยพสุทธิเพิ่มขึ้นแตะ 125,000 คน แม้ว่าเจ้าหน้าที่กงศุลกากรจะมีศักยภาพในการดำเนินการอนุมัติวีซ่าได้เพียง 25,000 คนต่อปีก็ตาม
ทว่าก็ต้องจับตาประเด็นดังกล่าวต่อไป เนื่องจากตัวเลขผู้ได้รับวีซ่าที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 ยังคงน้อยกว่าตัวเลขในช่วงก่อนการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ประมาณ 10 ล้านคน
ด้าน ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจในประเด็นดังกล่าวว่า หากตัวเลขภาคการจ้างงานของสหรัฐปรับตัวดูดีขึ้น อัตราค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ก็จะส่งผลอีกทอดหนึ่งให้อัตราเงินเฟ้อไม่ขยับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดหุ้นเพราะนักลงทุนต้องกลับมากังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง และเงินทุนก็อาจไหลออกจากตลาดหุ้น
“อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนชาวอเมริกาออกจากงานเป็นจำนวนมาก และประชาชนในอเมริกาก็เสียชีวิตอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน โดยสำหรับประชาชนที่ออกจากงานในช่วงนั้นส่วนใหญ่ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนั้นผมมองว่าคนอเมริกันปัจจุบันค่อนข้างร่ำรวย จึงไม่แปลกที่เขาจะไม่กลับเข้าไปทำงานในภาคแรงงาน”
“ผมยังมองว่าภาคการจ้างงานสหรัฐยังอยู่ในสภาวะตึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ หากคุณไปรับทานอาหารข้างนอก คุณจะเจอค่าเซอร์วิสชาร์จถึง 30% ซึ่งแพงมาก”
“จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีตำแหน่งงานในภาคดังกล่าวมากพอสำหรับกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน แต่จริงๆ ผมยังมองว่าภาคการจ้างงานสหรัฐยังอยู่ในสภาวะตึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ หากคุณไปรับทานอาหารข้างนอก คุณเจอค่าเซอร์วิสชาร์จถึง 30% ซึ่งแพงมาก”