BTS ยันทำสัญญาจ้างเดินรถ ‘สายสีเขียวส่วนขยาย’ ถูกต้องตามกฎหมาย
“บีทีเอส” ชี้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันทำสัญญาจ้างเดิน “รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมใช้สิทธิคัดค้านและแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย พร้อมให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.เต็มที่
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่ปรากฏข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตาแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 13 คน
ซึ่งรวมถึง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของ BTSC (รวมเรียกว่า BTSC) เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2555 (สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย)
โดยมีการกล่าวหาในประเด็นหลักว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (กฎหมายร่วมทุน) นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงดังนี้
- กรณีนี้ยังคงเป็นเพียงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป.ป.ช. เท่านั้น และ BTSC ยังไม่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีแต่อย่างใด ทั้งนี้ BTSC มีสิทธิคัดค้านและแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย โดย BTSC ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
- บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดย
1. เมื่อปี 2550 กทม. ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการที่ กทม. หรือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดจะว่าจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย ในคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 222/2550 แล้วโดยสรุปว่า การจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ใช่การร่วมลงทุนหรือให้สิทธิสัมปทานภายใต้กฎหมายร่วมทุน
2. การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้เคยผ่านการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยภายหลังจากการสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้อง BTSC