‘บิ๊กซี รีเทล’ จ่อรุกตลาดจีนผ่านออนไลน์ ในไทยหวังขยับใกล้เบอร์ 1
“บิ๊กซี รีเทล” เตรียมบุกตลาดจีน แย้มกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์ หวังขยายช่องทางขายผ่าน “แพลตฟอร์มออนไลน์” ด้านการแข่งขันในไทย หวังมาร์เก็ตแชร์ขยับเข้าใกล้เบอร์ 1 มั่นใจปีนี้ผลงานโตมากกว่า “จีดีพี” โตเฉลี่ย 3% ครึ่งหลังค้าปลีกคึก “เศรษฐกิจ-นักท่องเที่ยวฟื้น”
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนในประเทศจีน โดยกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์จีน โดยโมเดลธุรกิจจะเข้าไปเชื่อมโยงในด้านแพลตฟอร์มขายสินค้าผ่านออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุนเตรียมไว้แล้วก้อนหนึ่ง ซึ่งการขายผ่านแพลตฟอร์มถือเป็นการขยายช่องทางขายเพิ่ม
“เราคงไม่ลงทุนสร้างร้านค้าที่เมืองจีน เพราะการแข่งขันในตลาดจีนสูงมาก ผู้ประกอบการค้าปลีกเบอร์ใหญ่ยังทำยาก ซึ่งกลุ่มลูกค้าชาวจีนยังถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญในการเพิ่มยอดขายของบริษัท โดยเฉพาะการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตรในจีน โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรจากจีนในการขยายความร่วมมือในการขยายช่องทางการจำหน่ายของบิ๊กซีผ่านเครือข่ายของพันธมิตร”
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองตลาดต่างประเทศเป็นโอกาสเติบโต โดยในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น สปป. ลาว , กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริษัทได้เข้าไปขยายธุรกิจแล้วทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งทั้งในลาวและกัมพูชา บิ๊กซีถือเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีก ส่วนในเวียดนาม ถือว่าบริษัทเป็นเจ้าใหญ่ในธุรกิจค้าส่ง ซึ่งได้เข้าไปถือหุ้นใน MM Mega Market เวียดนาม และในอนาคตยังมีสิทธิเข้าไปถือหุ้นเพิ่มเพื่อนำผลการดำเนินงานของ MM Mega Market เข้ามารวมในผลการดำเนินงานของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ทันในปี 2566 หลังบริษัทยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่าง ก.ล.ต. พิจารณาไฟลิ่งของบริษัท
โดย BRC ได้ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้น มีวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ
โดยการจัดจำหน่ายหุ้น จะทำผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย 5 รายได้แก่ บล.บัวหลวง , บล.กสิกรไทย ,ธนาคารไทยพาณิชย์ , บล.เกียรตินาคินภัทร และบล.ฟินันเซีย ไซรัส นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมเปิดขายหุ้น IPO ให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่ารายได้จะเติบโตมากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งตลาดคาดว่าเฉลี่ยเติบโตระดับ 3% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากในช่วงครึ่งปีหลังค้าปลีกยังเติบโตได้ดี ธุรกิจฟื้นตัว และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา ซึ่งบริษัทมีสาขาประจำแหล่งท่องเที่ยวประมาณ 60 จุด เข้ามาช่วยหนุนยอดขายให้ฟื้นตัว
และไทยถือเป็นประเทศ Top of mind ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศก็กลับมาคึกคักมากขึ้น ซึ่งเห็นจากยอดขายสาขาเดิมของบิ๊กซีที่กลับมาเติบโตขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2566 และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง
ขณะที่ งบลงทุนในช่วง 2 ปี (2566-2567) จะใช้ปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งการขยายสาขา , ปรับปรุงสาขาเดิม และรุกตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา-สปป. ลาว และ เวียดนาม ที่บริษัทจะมีการเปิดบิ๊กซีขนาดใหญ่ โดยใช้เงินลงทุนสาขาละ 500 ล้านบาท ซึ่งมองว่าตลาดต่างประเทศอัตราการเติบโตเร็ว เพราะว่าตลาดยังมีซุเปอร์มาร์เก็ตไม่มากเหมือนในประเทศไทย ที่มีพื้นที่ในการขยายสาขาขนาดใหญ่ลำบากแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทมีจำนวนร้านค้าในปัจจุบันกว่า 1,700 แห่ง โดยปัจจุบัน BRC มีเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ (Multi-format) ประกอบด้วย บิ๊กซี ซูเปอร์ เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี เพลส, บิ๊กซี มาร์เก็ต, บิ๊กซี ฟู๊ดเพลส, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส
สำหรับ การแข่งขันในประเทศบริษัทยังเดินหน้าในการขยายธุรกิจและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market share) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมี Market share เป็นอันดับ 2 ที่ 18.3% รองจากอันดับ 1 ที่มี Market share 28.2% และมากกว่าอันดับ 3 ที่มี Market share 8.7% กว่า 2 เท่า ซึ่งมีความท้าทายและพร้อมผลักดัน Market share ให้เข้าใกล้คู่แข่งรายใหญ่อันดับ 1 ต่อเนื่องในทุกๆ ปี ผ่านการรีโนเวทสาขาเดิม และการเปิดสาขาใหม่ให้ครอบคลุม รวมถึงการพัฒนาโมเดลร้านค้าที่เข้ากับลูกค้าในยุคใหม่
สำหรับความท้าท้ายในปีนี้บริษัทมองว่าต้นทุนค่าไฟยังถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการบริการจัดการค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าการที่ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทด้วยเช่นกัน แต่ค่าไฟอาจจะมีความผันผวนตามกลไกของราคา ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้บริษัทต้องหาทางเลือกในการบริหารจัดการต้นทุนในส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ระหว่างรอติดตามนโยบายชุดใหม่ ทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร