หุ้น ALL ร่วง 14% เหตุปมเบี้ยวชำระหนี้หุ้นกู้ 2.6 พันล้าน ตลท.ออกเตือน นลท.
หุ้น ALL ร่วงหนักอยู่ที่ระดับ 0.06 บาท หรือลดลง 0.01 บาท หรือปลี่ยนแปลง -14.29% หลังจากผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 2.6 พันล้านบาท ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังในการซื้อขาย
ภายหลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกเตือนผู้ลงทุนศึกษาและติดตาม หุ้น ALL รวมถึงให้ระมัดระวังในการซื้อขาย หลังพบว่า มีการผิดนัดชำระหนี้
โดยในช่วง เวลา 14.00 น. ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ALL ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในการดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือดำเนินการฟ้องร้อง และบังคับจำนองทรัพย์สินหลักประกันของผู้ออกหุ้นกู้ โดยจะขอมติอนุมัติมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หรือเจ้าหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ดำเนินการฟ้องร้องคดีและบังคับคดี หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับลงมา (2 ส.ค.66 เวลา 15.43 น.) อยู่ที่ระดับ 0.06 บาท หรือลดลง 0.01 บาท หรือปลี่ยนแปลง -14.29%
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ออกมาเตือนผู้ลงทุน หลังจาก ALL มีปัญหาสภาพคล่องมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มมีการผิดนัดชำระหุ้นกู้บางตัวมาระยะหนึ่งเช่นกัน ปัจจุบันไม่สามารถที่จะจ่ายชำระหนี้คืนได้ แต่ที่มีประชุมประชุมดังกล่าวอาจจะมีข้อเสนอบางอย่างให้กับทางฝั่งของผู้ถือหุ้น แต่เชื่อว่า ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนี้ผู้ถือหุ้นทุกคนรู้แล้วว่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร และเป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนทุกคนอยากจะดึงเงินออกมาให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ฉะนั้นมองว่าสถานการณ์การประชุมไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากภาพใหญ่ ๆ ของ ALL ได้
จึงแนะนำนักลงทุนว่า ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น ALL แต่ถ้าเข้าไปลงทุนแล้วก็ต้องทำใจว่า ความเสียหายจากการลงทุนที่คาดว่าจะเป็นการถาวรและไม่สามารถที่จะกลับคืนมาได้ง่าย ๆ
ทั้งนี้หากดูจำนวนเงินทั้งหมดต้องยอมรับว่า เป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง 2,416 ล้านบาท แยกเป็นเงินต้น 2,334 ล้านบาท และที่เหลือเป็นดอกเบี้ย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างเหนื่อยพอสมควรสำหรับ ALL หากไปดูงบการเงินของบริษัทจะเห็นว่า มีสินทรัพย์ไม่ได้เยอะมาก เหลือแค่สินค้าคงเหลือ ซึ่งเป็นพวกที่ดินที่รอระหว่างการพัฒนา ประมาณ 2,600 ล้านบาท เงินมัดจำ 1,436 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สินค้าคงเหลือที่เป็นประเภทที่ดิน หรือโครงการรอการพัฒนา ต่อให้แปลงเป็นเงินสดในสภาวะที่มีความรีบเร่ง ไม่สามารถที่แปลงเป็นราคา 1,436 ล้านบาทได้ทันที เพราะว่า หากพิจารณาดูสำหรับคนเลือกซื่้อบ้าน เมื่อรู้ว่าเป็นบริษัทอะไรก็อาจะเกิดความกลัว ไม่รู้ว่า เมื่อถืงเวลาบริษัทจะอยู่จนทำเสร็จหรือไม่
ขณะเดียวกันทางด้านหนี้สินก็ยังเหนื่อยอยู่เช่นกัน เนื่องจากว่ามีเงินกู้ยืมระยะสั้นประมาณ 1,152 ล้านบาท ส่วนหนี้สินระยะยาวประมาณ 2,878 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งหุ้นกู้และสถาบันการเงิน และเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้แล้วในบางแห่ง และถ้ามองคร่าว ๆ หนี้สินรวมแล้วประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท หากเทียบกับการขายที่ดินทั้งหมดและโครงการจะได้เงินแค่เพียง 2,600 ล้านบาท หากรวมกับสินทรัพย์อย่างอื่นพอเหลืออยู่บ้าง เช่นเงินลงทุนในบริษัทย่อย หรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และที่ดินที่รอการพัฒนาโครงการ อีกประมาณ 1,400 ล้านบาท นั่นแปลว่า หนี้สินกับสินทรัพย์ที่มีอยู่มีจำนวนที่พอ ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สินทรัพย์ที่ต้องขายในสภาวะที่บริษัทต้องเผชิญกับความกังวล และความไม่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่มูลค่าของสินทรัพย์มักจะไม่ได้ตามนั้น
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการผิดนัดชำระหนี้ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติยังมีความน่าเชื่อถือหรือน่าลงทุน หรือมีสินทรัพย์บางอย่างที่น่าสนใจ มีโครงการที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จเราจะเห็นการแก้ไขสถานการณ์ในรูปแบบของการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินนี้มาช่วยผ่อนชำระหนี้ได้
แต่ในสถานการณ์ของ ALL เกิดปัญหามาต่อเนื่อง บวกกับการที่มีฐานทุนไม่ได้แข็งแกร่ง และมีการขึ้นโครงการไม่สำเร็จจนกระทั่งต้องมีการคืนเงินให้กับผู้ซื้อหลายครั้ง พอเกิดขึ้นหลายครั้งทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อถือ ทำให้การขึ้นโครงการ การขายไม่สามารถทำได้ง่าย ส่งผลให้การทำโปรโมชั่นไม่ได้ราคา เพราะฉะนั้นมองระยะยาวนักลงทุนอาจจะไม่ได้มีความคาดหวังหรือความเชื่อมั่นสักเท่าไหร่ ดังนั้นจึงมองว่า การเพิ่มทุนจึงไม่ใชเรื่องง่าย และมองว่ามีโอกาสสูงที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย บล.บัวหลวง ให้ข้อมูลผ่านบทวิเคราะห์ว่า KKP ได้แจ้ง ALL ขอให้ชำระหนี้ที่ผิดนัดชำระเป็นเงินต้น จำนวน 252 ล้านบาท ซึ่ง ALL มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายจากสถาบันการเงิน ณ สิ้น 1Q23 ทั้งสิ้น 549 ล้านบาท โดยหนี้สินบางส่วนมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ของ ALL เป็นหลักประกัน
ทั้งนี้ KKP ได้แจ้งว่า ALL ผิดนัดชำระหนี้คิดเป็นเงินต้นจำนวน 252 ล้านบาท ทำให้ประเมินว่า สินเช่ื่อดังกล่าวมีแนวโน้มจะกลายเป็น NPLs ทั้งนี้ ALL มีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ตั้งแต่ ม.ค.66 ทำให้ประเมินว่า KKP น่าจะมีการตั้งสำรองหนี้ฯ รองรับความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวไปแล้ว
แต่ถ้า KKP ยังไม่ได้ตั้งสำรองหนี้สูญดังกล่าวเลยจะต้องตั้งสำรองหนี้ฯ เพิ่มเติมราว 110 ล้านบาท (KKP ตั้งสำรองหนี้ฯ เฉลี่ยราว 43% ของการตั้งสำรองหนี้ของสินเชื่อ stage 3) ในปี 66 หรือคิดเป็นราว 2% ของ ประมาณการกำไรสุทธิปี 66
อย่างไรก็ตาม มองเป็นมุมลบเล็กน้อยต่อประเด็นดังกล่าว โดยคาดว่า KKP มีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้ฯ ดังกล่าวไปแล้ว และหากยังไม่ได้ ตั้งสำรองก็จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิปี 66 ไม่มาก แต่ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิ 2H23 ยังฟ้ื้นตัวล่าช้า จึงยัง แนะนำเพียง “ถือ”
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สรุป กรณีหุ้น ALL ดังนี้
1.หุ้นกู้ของ ALL เนื่องจากการผิดนัดในมูลหนี้รวมเกินเกณฑ์ตามข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ (Cross Default) ทั้งนี้ บริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด (7 รุ่น) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,416 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินต้นคงค้าง 2,334 ล้านบาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระจนถึงวันที่ผิดนัด 82 ล้านบาท (คิดเป็น 40% ของสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)
โดยบริษัทจะเร่งดำเนินการขายทรัพย์ และหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชำระคืนหนี้หุ้นกู้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. เพื่อขอมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในการดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือดำเนินการฟ้องร้อง และบังคับจำนองทรัพย์สินหลักประกันของผู้ออกหุ้นกู้ โดยจะขอมติอนุมัติมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หรือเจ้าหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ดำเนินการฟ้องร้องคดีและบังคับคดี
2.หนี้ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) รวม 264 ล้านบาท โดยหากไม่นำเงินมาชำระหนี้ภายใน 30 วันนับจากได้รับหนังสือจาก KKP (วันที่ 20 กรกฎาคม 2566) KKP จะใช้สิทธิดำเนินการตามกฎหมาย