‘เอ็กซ์สปริง’เปิดเกมรุก 4 ธุรกิจ มุ่งสู่บริการ ‘การเงิน’ ครบวงจร

‘เอ็กซ์สปริง’เปิดเกมรุก 4 ธุรกิจ มุ่งสู่บริการ ‘การเงิน’ ครบวงจร

XPG กำลังมุ่งสู่การเป็น “One-Stop Financial Solutions” เพื่อนำเสนอบริการทางการเงินแบบครบวงจรในทุกมิติ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแบบ Gatewayto investment ในปีที่ผ่านมา XPG เป็นช่วงการขยายธุรกิจ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ กระทบต่อผลดำเนินงานทั้ง “รายได้-กำไร” ปีก่อนไม่ดีนัก !

"วรางคณา อัครสถาพร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าในปีนี้บริษัทลูกในเครือ XPG ทั้ง 4 บริษัทแสดงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจออกมาอย่างน่าพอใจ สะท้อนผ่านครึ่งแรกปี 2566 มีรายได้รวม 217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 347% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 88 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกที่ 34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 132 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งหลังปี 2566 บริษัทคาดว่าผลประกอบการทั้งรายได้-กำไร จะมีทิศทางเดียวกับในครึ่งปีแรก หลังจากผลงานของ 4 ธุรกิจในบริษัทมีการเติบโตแข็งแกร่ง 

โดยสัดส่วนของผลกำไร มาจากการดำเนินงานของ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ KTX เป็นหลัก ซึ่งคิดเป็น 40-50% และมาจากธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน (Asset Management) และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) อยู่ที่ประมาณ 10-20% และกลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เพิ่งดำเนินการได้ไม่นาน คาดว่าจะเห็นผลประกอบการที่มีโอกาสเติบโตสูงในอีก 3 ปี

สำหรับบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด หรือ XSpring AMC ซึ่งประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ XPG ถือหุ้น 100% ได้ลงนามซื้อหนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนกว่า 600 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนก.ย. 2566 ส่งผลให้ปัจจุบันพอร์ตสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,970 ล้านบาท ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีว่าจะสามารถประมูลสินทรัพย์เข้าพอร์ตได้ถึง 3,500 ล้านบาท

"วรางคณา" บอกต่อว่า มองธุรกิจ AMC เป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ รวมทั้งต้องใช้เวลาและการจัดการที่ดีเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นครั้งแรกของการประเดิมซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากพอร์ตหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ และการขยายพอร์ตหนี้ครั้งนี้จะทำให้บริษัทเข้าถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ถือเป็นการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปีที่จะเน้นในส่วนของหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น หนี้เสียจากรายย่อย ประเภท สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และหนี้เสียจากรายใหญ่

พร้อมทั้งมีการปรับแผนการดำเนินงาน โดยการเน้นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันควบคู่กันไป ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะได้เห็นความคืบหน้าของการประมูลหนี้สินไม่มีหลักประกันเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 จะเริ่มเห็นการบริหารจัดการทรัพย์เหล่านี้ให้เกิดรายได้แก่บริษัทควบคู่ไปกับการซื้อสินทรัพย์ฯ ใหม่เข้ามาบริหาร ทำให้ XSpring AMC ตั้งเป้ารายได้ในระยะ 3 ปีจะอยู่ที่ 300-500 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของพอร์ตหนี้ เนื่องจากบริษัทมีแผนในการซื้อหนี้มาบริหารในสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยบริษัทมีความได้เปรียบในแง่ของเงินทุนจากการมี XPG เป็นบริษัทแม่ที่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง

“ในส่วนของสินทรัพย์ที่มีหลักประกันนั้น XSpring AMC ก็มีความได้เปรียบเนื่องจาก XPG บริษัทแม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ทราบถึงข้อมูลสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีความได้เปรียบด้านการปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายให้กลับมามีสภาพดีพร้อมใช้งาน ก่อนนำออกขายสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก"

ส่วน 2 ธุรกิจหลักที่ได้เริ่มดำเนินธุรกิจตามแผนอย่างเต็มตัวในปีนี้ คือ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด (XSpring Asset Management) มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความแตกต่าง เช่น ไพรเวทอิควิตีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มเข้ามามากขึ้น 

รวมทั้ง บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุน UI หรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra Accredited Investor Mutual Fund) ขนาดการลงทุนอยู่ที่ 2.5-3 พันล้านบาท ที่อยู่ในระหว่างการขออนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าจะได้ออกขายในไตรมาส 4 ปี 2566 เพื่อเจาะกลุ่มผู้ลงทุนในกลุ่ม Ultra High Net Worth ที่มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมอยู่แล้ว 

และบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XD) ที่ดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่ยอมรับว่าเริ่มธุรกิจในช่วงที่ตลาดกำลังเข้าสู่ภาวะซบเซาทำให้วอลุ่มการซื้อขายในตลาดรองของเอ็กสปริงดิจิทัลลดลง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เชื่อมโยงทั่วโลกนั้นมีช่วงเวลาขาขึ้นและขาลง ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต รวมทั้งตลาดขาขึ้นครั้งต่อไปนักลงทุนจะเข้ามาด้วยความรู้และความเข้าใจ จึงมองว่าภาพที่ตลาดจะปรับตัวขึ้นไปสูงขึ้นเหมือนในอดีตมีความเป็นไปได้ยาก 

ในขณะเดียวกันธุรกิจบริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ซึ่งประสบความสำเร็จในการออก ICO ตัวแรกของไทยในปีที่ผ่านมาคือ SiriHub Token และยื่นคำขออนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล (filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว 3 ตัวในปีนี้ ซึ่งมี 1 ตัวที่รอช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอขาย และอีก 2 ตัวที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบจากทาง ก.ล.ต. 

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี (รายได้จากการขายลบต้นทุน) อันเนื่องมาจากการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนที่มีความต้องการระดมทุนด้วยการออกโทเคนดิจิทัลอยู่แล้ว 

ขณะที่ ธุรกิจ ICO Portal เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับธุรกิจที่เข้าไม่ถึงเงินทุน หรือมีข้อจำกัดในการระดมทุน ทำให้ลูกค้าของ XD มีหลากหลายกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่มกรีนเอนเนอร์จีที่ประสบปัญหาในการขอเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ เช่นธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) เนื่องจากถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ ICO Portal ให้มี "มูลค่าเพิ่ม" 

สำหรับการออกโทเคนดิจิทัลเกี่ยวกับคาร์บอนเครติด แม้ว่าขณะในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ออกเกณฑ์วัดมูลค่าคาร์บอนเครดิตที่ชัดเจน ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

ดังนั้น เมื่อ 4 ธุรกิจภายใต้กลุ่ม XPG เริ่มดำเนินไปธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความท้าทายต่อไปของ XPG ผสานให้ทุกธุรกิจภายในเครือสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้  พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น และรักษากลุ่มลูกค้า Ultra High Net Worth ทั้งใน XSpring AM และ XSpring Digital