ค้าน‘JKN’ฟื้นฟูกิจการ ‘เจ้าหนี้รายย่อยหุ้นกู้’โวยมีพิรุธเลี่ยงจ่ายหนี้
เจ้าหนี้รายย่อยผู้ถือหุ้นกู้JKNรวมตัว ตั้งข้อสังเกต“กรณียื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการ-เสนอผู้จัดทำแผนฯ”ไม่สุจริต เดินหน้าหารือ ก.ล.ต. หวังตั้ง “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้”ทำหน้าที่เป็น“ตัวแทนเจ้าหนี้หุ้นกู้” ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟู ThaiBMA ประสานงาน-หารือ“บล.ดาโอ-เอเซียพลัส”
หลังจาก ที่ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) และเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาJKNได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
โดยต่อมาวันที่ 9 พ.ย.2566 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของJKNแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กําหนดวันไต่สวนคําร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค. 2567 ทําให้เกิดสภาวะการพักชําระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic stay) ตามมาตรา 90/12 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งรวมไปถึงการพักชําระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ของJKNทุกรุ่น เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ส่งผลให้ ทาง JKN ไม่ต้องชำระหนี้“หุ้นกู้ JKN”ที่จะครบกำหนดในเดือนพ.ย. - ธ.ค.นี้จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 60 ล้านบาท ทันทีภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายดังกล่าว
อีกทั้งเมื่อผู้ถือหุ้นกู้ JKN โหวตยืดไถ่ถอนถึง 23 ก.พ. 2567 ไม่ถูกเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้ ( Call Default) รุ่นJKN239A และอีก 6 รุ่นที่เหลือ JKN243A, JKN24OA, JKN24NA ,JKN252A, JKN255A และ JKN246A ไม่ต้องถูกผิดนัดชำระหนี้ไขว้ (cross default) ตามไปด้วยแล้วนั้น แต่ทาง JKN ไม่เคยมีการหารือกับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ JKN ในเรื่องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด
ในฝั่ง “เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ JKN ” ต่างตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาของ JKNดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตใจ และทำให้มีข้อสงสัยในการทำธุรกิจของครอบครัวตามมาอีกหลายๆประเด็น อาทิเช่น ทำไมถึงยังมีการลงทุนมากๆต่อเนื่องจนถึงครบกำหนดการชำระคืนหุ้นกู้ แต่กลายเป็นว่า ไม่มีเงินชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด , ทรัพย์สินที่เป็นคอนเทนต์ มูลค่า 7,000 กว่าล้านบาท มีการตีมูลค่าอย่างไร มีมูลค่าจริงหรือไม่อย่างไร
รวมถึงที่สำคัญงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566 ที่จะประกาศออกมากำลังถูกจับตาว่าทาง “JKN" จะยังมีกำไรหรือไม่” เพราะงบการเงิน ไตรมาส 2 ปี 2566 ยังมีกำไร แต่กลับมามีปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีเงินชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด งบการเงินมีความผิดปกติหรือไม่ ทางหน่วยงานกำกับดูแล จะเข้ามาสั่งให้มีการตรวจสอบงบการเงินเป็นกรณีพิเศษ (SPECIAL AUDIT) ด้วยหรือไม่
ด้านความเคลื่อนไหว “ผู้ถือหุ้นกู้ JKN” กว่า 3,000 คน มีมูลค่าความเสียหายราว 3,000 กว่าล้านบาทเริ่มมีการรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางยื่นคัดค้าน JKN ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างหนี้ต่อศาลล้มละลายกลางดังกล่าว
ผู้ถือหุ้นกู้ JKN รายหนึ่ง (ถือหุ้นกู้JKN 2 รุ่น มูลค่า 5 ล้านบาท ) กล่าวว่า ล่าสุดทางกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ JKN ในฐานะเจ้าหนี้รายย่อยได้ส่งหนังสือหารือไปยัง ก.ล.ต.แล้วถึงแนวทางที่เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้JKNจะสามารถดำเนินการยื่นคำคัดค้านคำร้องดังกล่าว ใน 2 แนวทาง คือ
1.ขอมติที่ประชุมเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ JKN เพื่ออนุมัติแต่งตั้ง “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ JKN” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนยื่นคำคัดค้าน
2. ผู้ถือหุ้นกู้ JKN ยินยอมมอบอำนาจให้ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้JKN” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนยื่นคำคัดค้าน
“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างรอความชัดเจนว่าสามารถดำเนินการได้ในแนวทางใดบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1-2 วันนี้ หากแนวทางแรกสามารถทำได้ เข้าใจว่าทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ JKN น่าจะดำเนินการได้ทันที”
ขณะเดียวกัน ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เร่งหารือร่วมกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ JKN “บล.ดาโอ และบล.เอเซียพลัส” ถึงแนวทางการดำเนินงานและบทบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ถือหุ้นกู้ JKN อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามข้อกำหนด
นางสาวอริยา ติรณประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า ทางสมาคมฯ กำลังประสานงานเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ถือหุ้นกู้JKNอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย
โดยวานนี้ (14 พ.ย.) ได้หารือร่วมกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้JKN บล.ดาโด และบล.เอเซียพลัส ถึงแนวทางการดำเนินงานและบทบาท เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ JKN อย่างเหมาะสม และถูกต้องข้อกำหนด ซึ่งทางเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ JKN สามารถยื่นหนังสือคัดค้านคำร้องที่ JKNยื่นขอฟื้นฟูกับศาลล้มลายฯได้ ภายในช่วง 2 เดือนนี้ ก่อนที่ศาลฯจะมีการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค. 2567
“เรากำลังเร่งประสานงาน ก.ล.ต. และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ดังกล่าวจะมีแนวทางอย่างไรต่อไปเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งในตลาดหุ้นกู้มีการตั้งข้อสังเกตที่ธุรกิจเริ่มใช้แนวทางตามกฎหมายขอยื่นฟื้นฟูกิจการฯ ทำให้สามารถพักการชำระหนี้หุ้นกู้เจ้าหนี้ที่เป็นรายย่อย เสียเปรียบมองว่าอาจจะต้องมีการทบทวนกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน”