'หุ้นไทย'10 ปี ป่วยซ้ำซ้อน ‘กองทุนต้นโพธิ์’ เผย 5 ความเสี่ยงเดินหน้าปิดกอง
ถอดบทเรียน “ปิดกองทุนต้นโพธิ์” เผยเหตุหุ้นไทยป่วยซ้ำซ้อน- ล้าหลัง -หมดอนาคต “บลจ.ทาลิส” ชี้ปัจจัยการเมืองในประเทศ ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง “ดร.นิเวศน์” พบปีที่ผ่านมาหลายกองทุนเฮดจ์ฟันด์ปิดตัวลง คาดเชื่อมั่นหุ้นไทยเทขายกว่า 1 ล้านล้าน
หุ้นไทยไร้เสน่ห์แล้วจริงหรือ? หลังจากที่ “อธิไกร จาติกวณิช” พี่ชาย “กรณ์ จาติกวณิช” ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ “กองทุนต้นโพธิ์” ได้กล่าวไว้ในจดหมายแจ้งปิดกองทุนไว้ตอนหนึ่งว่า “หุ้นไทยเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยไม่ได้เป็นสถานที่ที่ดีแบบนั้น.. ไม่ได้เป็นมาสักระยะแล้ว และไม่มีทางเลยที่ประเทศไทยจะกลับไปสู่การเติบโตได้”
“อธิไกร” ได้อธิบายถึงสาเหตุการปิดกองทุนว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมารู้ว่า การที่จะบริหารเงินได้ดีต้องประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลัก 1. การบริหารเงินที่ดีจะทำได้ดีถ้ามีการสนับสนุนที่ดีของนักลงทุนที่ให้เงินมาบริหาร ซึ่งตรงนี้ผมได้รับมันอย่างเต็มที่ และ 2. การบริหารเงินที่ดีจะทำได้ดีถ้ามีการสนับสนุนที่ดีจากสินทรัพย์ที่ลงทุน ถ้าประเภททรัพย์สินที่ลงทุนเป็นทรัพย์สินที่ดี การบริหารเงินก็ประสบความสำเร็จ แต่ในตอนนี้ หุ้นไทยซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุน กำลังเป็นสินทรัพย์ที่น่าผิดหวังมาก
ทั้งนี้ 2-3 ปีนี้มานี้ผมผ่านช่วงยากลำบาก และเมื่อได้มาประเมินใหม่แล้ว ในตอนนี้มีตลาดอื่น ๆ ที่น่าสนใจ และผลตอบแทนแบบ Risk-free (ซึ่งหมายถึงพันธบัตรสหรัฐฯ) ก็อยู่ในอัตราที่เหนือกว่า 4% ก็ยิ่งทำให้ความน่าดึงดูดของตลาดไทยนั้นยิ่งจืดจางลง
และถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา คำตอบก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้ภาครัฐให้อำนาจแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่จะผูกขาด แต่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่น้อย ซึ่งผลสุดท้ายก็ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้
สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าบริษัทใน SET50 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง และบริษัทส่วนใหญ่ในนี้เป็นบริษัทที่ผูกขาด หรือไม่ก็ได้รับสัมปทานจากภาครัฐมา ผมเคยมีความเชื่อเสมอว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนตัวเองได้ แต่ในตอนนี้ผมถอดใจแล้ว และผมเชื่อว่าเลือกสินทรัพย์ลงทุนโดยแบ่งเป็นภูมิภาคนั้นล้าสมัยแล้ว..
สุดท้ายแล้ว คนที่ลงทุนในประเทศไทยต่อไป ค่าเสียโอกาสจะมากขึ้น และมากขึ้น..”
“กองทุนต้นโพธิ์” เป็นกองทุนประเภท hedge fund สัญชาติไทย ที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นสูงสุดในช่วงเกือบ 20 ปีผ่านมา เฉลี่ยที่ 1,000 - 1,200% โดยสามารถเอาชนะดัชนีหุ้น S&P 500 และ NASDAQ ของสหรัฐฯ ได้
โดยกองทุน ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 จดทะเบียนที่ในหมู่เกาะเคย์แมน มี “อธิไกร จาติกวณิช” เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้จัดการกองทุน โดยกองทุนมีนโยบายเน้นการลงทุนระยะยาว โดยมุ่งเน้นบริษัทที่มีการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ที่มีขนาดเล็กเป็นหลัก หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่เหมาะกับเกณฑ์การเติบโตและผลตอบแทนได้
สำหรับ การเติบโตของจีดีพีไทยเฉลี่ยต่อปี ในปี 2529-2538 เติบโต 9.3% ปี 2543-2553 เติบโต 4.7% ,ปี 2556-2562 เติบโต 2.3% และ ปี 2563-2566 เติบโต 0.3%
สำหรับ “อธิไกร” สําเร็จการศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิตด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเข้าทำงานในตลาดทุน
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน กองทุน ทาลิส จำกัด ให้ข้อมูลกับ "กรุงทพธุรกิจ" ว่า ยอมรับหุ้นไทยไม่ได้ย้ำแย่ในช่วง 2-3 ปี แต่เริ่มมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติรัฐประหาร ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และลงทุนในประเทศ ทั้งการลงทุนโดยตรงและอ้อม เพราะจะเห็นต่างชาติต่างเทขายออก เพราะขาดความเชื่อมั่น ซึ่งถ้าดูประเทศที่มีการปฎิวัติกันจะเป็นประเทศแถบแอฟริกา รวมถึงประเทศที่ด้อยพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีความหากไกล แต่ไทยเป็นประเทศมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจค่อนข้างไกล แต่การเมืองต้องยอมรับด้อยมาก จึงส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความระวังลงทุนในไทย เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปฎิวัติอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ทหารจึงทำให้นักลงทุนมีความกังวลในเรื่องยึดอำนาจ
ดังนั้น จึงเป็นที่มานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยทิ้งไปตั้งเกือบ 1 ล้านล้านบาท ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงปัจจุบัน โดยคาดนักลงทุนต่างชาติน่าจะมีการประเมินความเสี่ยงสูง จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่ส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ทหารเข้ามาบริหารประเทศได้นำความมั่นคงบริหารเป็นหลัก และเศรษฐกิจเป็นรอง รวมถึงมาประสบกับวิกฤติโควิด-19 หลายประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างแรง
นอกจากนี้ การฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจทำได้ค่อนข้างน้อยหากดูย้อนหลัง 3 ปี จีดีพีเพียงอย่างเดียวโดยไม่รวมเงินเฟ้อเข้ามายังไม่ได้ถึง 6% หรือยังไม่สามารถฟื่้นตัวได้เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 จึงมองว่า ยังมีอีกหลายเซกเตอร์กว่าจะฟื้นตัวได้น่าจะใช้เวลาในปีนี้ถึงปีหน้า
“จึงเป็นที่มาที่ไปว่า 2-3 ปีนี้ เศรษฐกิจยังเกิดวิกฤติไม่ค่อยสู้ดีนัก ขณะที่แบงก์ชาติออกมาบอกสวนทางว่า ไม่ได้เกิดวิกฤติเพียงแต่โตน้อย”
ทั้งนี้ ปัจจุบันหุ้นหลาย ๆ ตัวมีการปรับลงมาค่อนข้าง นักลงทุนสายวีไอเองต่างออกมายอมว่า ต้องมีการปรับพอร์ตมากยิ่งขึ้น รวมถึงกองทุนรวมของบริษัทฯ ได้มีการปรับพอร์ตโดยเน้นกองทุนใหม่ ๆ จะไปต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ส่วนกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยจะค่อนข้างน้อย เนื่องจากปัจจุบันหุ้นไทย 10 ปียังติดลบ ดังนั้นหุ้นไทยจึงมีความน่าสนใจลดน้อยลงไป โดยปกติการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8-10% ต่อปี
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่ เน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่กองทุนต้นโพธิ์กองทุนเดียวที่ปิดตัวลง แต่มีหลายกองทุนที่เป็นกองทุน hedge fund ได้ปิดตัวลงไปเช่นกัน ซึ่งยอมรับปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เลวร้ายกับกองทุนประเภท hedge fund พอสมควร โดยเฉพาะไทย เนื่องจากมีการวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจตรงกันข้ามค่อนข้างมาก รวมถึงจีน ญี่ปุ่น ที่ก่อนหน้านี้ต่างออกมาบอกเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดี แต่ก็ไม่ดีอย่างที่คิด หรือตรงกันข้าม ส่วนใหญ่เป็นกองทุน hedge fund ที่ไม่ได้มีขนาดมูลค่าใหญ่มากนัก แต่เป็นกองทุน hedge fund ที่ลงทุนแบบ private fund ส่วนใหญ่เป็นวีไอที่ค่อนข้างเจ็บหนักจนกระทั่งส่งผลให้มีการปิดตัวลงไป
อย่างไรก็ตาม กองทุนประเภทดังกล่าวไม่ใช่แค่เจ็บตัวจากช่วงปีที่ผ่านมา แต่เจ็บมาค่อนข้างพักใหญ่ พอถึงจุดนี้จึงทำให้กองทุนถอดใจ ว่า อนาคตระยะยาวอาจจะต้องเหนื่อยหนัก แนวทางเช่นนี้อาจจะไปไม่ไหว ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากองทุนดังกล่าวถือว่า ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง แต่พักหลังนักลงทุนแบบแนววีไอพอร์ตปรับลดลงมาค่อนข้างมาก
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลต่อว่า กองทุนต้นโพธิ์ มี AUM ราว 3 พันล้านบาท และน่าจะมีการทยอยขายหุ้นในพอร์ตออกมาต่อเนื่อง การที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงวันนี้อาจมีผลบ้างเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ที่หุ้นไทยปรับตัวลงวันนี้เป็นไปตามภูมิภาค รอผลการประชุมเฟด และผันผวน รอศาลตัดสิน กรณี ก้าวไกล
อย่างไรก็ตาม กองทุนต้นโพธิ์ ไม่ใช่กองทุนแรกที่ปิดตัวลงไป แต่ก่อนหน้านี้มีกองทุนประเภท hedge fund ปิดตัวลงไปหลายกองทุน จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ถดถอย สร้างผลงานเป็นที่น่าผิดหวังต่อนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การปิดตัวของกองทุนต้นโพธิ์ไม่น่ามีผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพราะ กองทุนได้แจ้งปิดกองตั้งแต่ต้นปี มีแนวโน้มว่าทำการ liquidate กองทุนไปแล้ว กองทุนมีขนาด น้อยกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น การปิดตัวของกองทุนไม่ทำให้เกิดแรงขายหลักทรัพย์อย่างมีนัย