BANPU จ่อซื้อคืนสูงสุดรับเกณฑ์ uptick หลังตลท. เปิด 260 หุ้นขายชอร์ตได้
ตลท.โชว์ 260 หุ้นผ่านเกณฑ์ uptick จับตาหุ้นใหญ่ถูกซื้อกลับหลังเทียบปริมาณขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนขึ้นแท่นสูงสุด BANPU-EA-TOP-BEM และ IVL หุ้นไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 74 หุ้น คาดหลังเปิดรายชื่อแรงซื้อกลับสัปดาห์นี้ ต้องระวังบางหุ้นมีการชอร์ตและซื้อกลับดันราคาหุ้น
มาตรการกำกับการขายชอร์ต (short selling) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ตลท.เริ่มใช้ด้านการกำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule) หรือเพิ่มขึ้น 1 ช่อง
จากราคาล่าสุด แทนการขายชอร์ตราคาเท่าหรือสูงกว่า (zero-puls tick) ซึ่งวันที่ 24 มิ.ย. 2567 เว็บไซต์ตลท. ได้มีการประกาศชุดหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ขายชอร์ตได้ทั้งหมด 260 หลักทรัพย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. -31 ธ.ค. 2567
เกณฑ์ดังกล่าวประกอบไปด้วย กรณี Non-SET 100 เพิ่มมาร์เก็ตแคปเป็น 7.5 พันล้านบาท จากเดิมที่ 5 พันล้านบาท และ Turnover Ratio เฉลี่ย 12 เดือนที่ 2% ซึ่งส่งผลทำให้หุ้นที่มีการขายชอร์ตและยังไม่ได้ซื้อคืน (Outstanding Short) มีโอกาสถูกขายชอร์ตยากมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดการซื้อคืน (Short covering)
“กรุงเทพธุรกิจ ” ได้รวบรวมข้อมูลหุ้นที่มีปริมาณขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนสูงสุด 10 อันดับแรกจากข้อมูล 21 มิ.ย. 2567 และผ่านเกณฑ์หุ้น Uptick Rule อันดับ1.BANPU สัดส่วน 2.75 % มีปริมาณหุ้นยังไม่ได้ซื้อคืน 30.86 ล้านหุ้น และผ่าน NVDR จำนวน 244.25 ล้านหุ้น อันดับ2. EA สัดส่วน 2.74% มีปริมาณหุ้นยังไม่ได้ซื้อคืน 9.94 ล้านหุ้น และ NVDR 92.24 ล้านหุ้น อันดับ3. TOP สัดส่วน 2.54 % มีปริมาณหุ้นยังไม่ได้ซื้อคืน 6.6 ล้านหุ้น และ NVDR 50.20 ล้านหุ้น
แหล่งข่าวโบรกเกอร์เปิดเผยว่า หากอ้างอิงรายชื่อ 260 หลักทรัพย์มีหุ้นไม่ผ่านเกณฑ์ให้ขายชอร์ตได้จำนวน 74 หุ้น เช่น AIT-AU-BE8-CHAYO-EKH-NRF-III-JR-NUSA-SAK-SCAP-SPC-WARRIX เป็นต้น กลุ่มนี้ไม่ค่อยมีผลสัดส่วน short น้อยและไม่ให้ชอร์ตอีกต่อไป แต่ต้องมีการซื้อคืนหากใช้เกณฑ์วันที่ 1 ก.ค.มีผล รวมไปถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปริมาณหุ้นยังไม่ได้ซื้อคืนสูงต้องมีการซื้อกลับภายในสัปดาห์นี้
นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากตลท.เปิดรายชื่อหุ้นผ่าน Uptick คือให้สามารถ short ได้ เมื่อเทียบกับหุ้นที่มีปริมาณหุ้นยังไม่ได้ซื้อคืนสูงสุดทำให้มีโอกาสราคาหุ้นจะฟื้นตัวแต่ต้องดูด้วยว่าราคหุ้นขึ้นมาแล้วหรือยัง
เนื่องจากหุ้นหลายตัวมีการ short และทำการ covering ภายในวันเดียวกันจำนวนมากส่งผลทำให้ราคาหุ้นมีอัพไซด์ไม่มาก ดังนั้นหากจะเลือกหุ้นตามเกณฑ์ดังกล่าวต้องเพิ่มปัจจัยบวกเฉพาะหุ้นและอุตสาหกรรมเข้าไปด้วย เช่น หุ้นท่องเที่ยว AWC ปริมาณชอร์ตสูงราคาปรับตัวไม่มากมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยว หรือ SIRI ได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นอสังหาฯขยายการถือครองต่างชาติเป็นต้น
อย่างไรก็ตามกรณีหุ้นที่ถูกบังคับขาย (foce sell) ราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นมาเรียบร้อยแล้วและบางหุ้นก็ไม่ได้เข้าเกณฑ์ชอร์ตได้อีก เช่น NRF เผชิญราคาดิ่ง 3 ฟลอร์ และราคาปรับตัวขึ้นมาชนชิลลิ่ง อาจจะมีผู้ถือหุ้นกลับเติมเงินและซื้อกลับ แต่ไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื่นฐาน
นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตอนนี้ประเมินหุ้นที่คาดจะมีแรงซื้อคืนมากจาก Cover Shot ที่สุดได้แก่ TTB และ CPALL ส่วนหุ้นอื่นๆ ที่เคยถูกขายชอร์ตพบมีแรงซื้อคืนกระทั่งความน่าสนใจลดลงแล้ว
ส่วนหุ้นนอก SET100 ที่คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ใหม่ของตลท. เชื่อว่าหลังจากนี้จะปรับขึ้นแรงเป็นรายตัวที่มีสถานะคงค้างเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถระบุในขณะนี้ว่าหุ้นใดจะน่าสนใจที่สุดจากจำนวนทั้งหมด
ทั้งนี้ จากข้อมูลสัปดาห์ที่ผ่านมาฝ่ายวิเคราะห์พบมีหุ้นที่มีสถานะ Outstanding Short อยู่มีโอกาสที่จะไม่สามารถ Short ได้ มี 40 บริษัท มูลค่า Outstanding Short รวม 629 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1.4% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จึงไม่น่าสร้างแรงขับต่อภาพรวมตลาดหุ้นได้มากนัก