‘ธุรกิจครอบครัว ’ ดันมูลค่าระดมทุนไทย 7 ปี ทะลุ 1.6 ล้านล้าน

‘ธุรกิจครอบครัว ’ ดันมูลค่าระดมทุนไทย 7 ปี ทะลุ 1.6 ล้านล้าน

ธุรกิจครอบครัว 80% ในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดกลางและขนาดย่อม และเมื่อศึกษาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2567 จำนวน 852 บริษัท

      ผลการวิจัยของ "สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ " ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  หรือ ตลท. “ธุรกิจครอบครัว” (family business) ปัจจุบัน 80% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดกลางและขนาดย่อม และศึกษาข้อมูลผ่านธุรกิจครอบครัวของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วง ม.ค. - มิ.ย.  2567 จำนวน 852 บริษัท ซึ่งพบว่า 575 บริษัท หรือ 67% ของบริษัท จดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยจัดเป็น “ธุรกิจครอบครัว” มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมสูงถึง 50% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (total market capitalization)

      เมื่อพิจารณากิจกรรมการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 - 2566) พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO ในตลาดหุ้นไทยรวมทั้งหมด 248 บริษัท โดย 188 บริษัท จากทั้งหมด 248 บริษัทเป็นธุรกิจครอบครัว หรือ 76% ของบริษัทที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO เป็นธุรกิจครอบครัว หรือ กล่าวอีกทางหนึ่งได้ว่า ธุรกิจครอบครัวอาศัยกลไกจากการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อขยายกิจการ

 

 

 

    

   มูลค่าการระดมทุนหรือ มูลค่า IPO ในช่วงเวลาเดียวกัน ระดมทุนรวมสูงกว่า 344,459 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61% ของมูลค่า IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีทิศทางเดียวกับมูลค่า Market Cap ณ วันซื้อขายวันแรกที่มีมูลค่ารวม 1.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 62% ของ Market Cap รวมของบริษัทที่ IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว

       ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจครอบครัวเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง มีบจ.ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO จำนวน 15 บริษัท และพบว่า 12 บริษัทใน 15 บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัว หรือคิดเป็น 80% ของจำนวนบริษัทที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO มีมูลค่าระดมทุนรวม 6,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74% ของมูลค่า IPO ทั้งหมด

     ตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษา คือ ในช่วงปี 2559 - มิ.ย. 2567 มีธุรกิจครอบครัวเข้าระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO รวม 200 บริษัท จากทั้งหมด 263 บริษัท หรือคิดเป็น 76% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่ระดมทุนผ่านกิจกรรม IPO โดยบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวเหล่านี้มีมูลค่าระดมทุนรวม 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61% ของมูลค่า IPO ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว

      ‘ธุรกิจครอบครัว ’ ดันมูลค่าระดมทุนไทย 7 ปี ทะลุ 1.6 ล้านล้าน

     ด้านความสามารถในการสร้างรายได้บจ.ธุรกิจครอบครัว 559 บริษัท มีรายได้รวม (Total Revenue) ปี 2566 ที่ 8.31 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือเฉลี่ย 37.1% ในช่วงปี 2560 - 2566 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า "มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศไทยในฐานะผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล "  จากเม็ดเงินจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงกว่า 106,287 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32.2% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยที่จ่ายให้ภาครัฐในปี 2566 หรือคิดเป็น 14.1% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบที่กรมสรรพากรจัดเก็บในปี 2566

      อีกบทบาทสำคัญ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการจ้างงาน โดยในปี 2566 บจ.ธุรกิจครอบครัว จำนวน 561 บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลจำนวนพนักงานใน 56-1 One Report Structure Data โดยมีจำนวนพนักงานรวมสูงถึง 1.35 ล้านคน  เพิ่มขึ้น 6.0% จากปี 2565 โดยจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนที่จัดเป็นธุรกิจครอบครัวนี้ คิดเป็น 8.7% ของจำนวนพนักงานที่เป็นลูกจ้างภาคเอกชนทั้งหมดในปี 2566 

     สรุปอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยกระจายตัวในหลากหลายธุรกิจ และอาศัยกลไกการระดมทุนในตลาดหุ้นไทย เพื่อลดข้อจำกัดของธุรกิจครอบครัวในการจัดหาเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายกิจการและเสริมสร้างการเติบโตในอนาคต โดยพบว่า  นอกจากจะทำการระดมทุนในตลาดแรกผ่านกิจกรรม IPO แล้ว ยังมีการระดมทุนรวมผ่านตลาดรองหลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแล้ว 

    และจากข้อมูลพบว่าบจ.ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในบทบาทของหน่วยงานสร้างรายได้ ผู้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ภาครัฐ และหน่วยงานกระจายรายได้จากการจ้างงานพนักงาน 

    ดังนั้น “ธุรกิจครอบครัว” อาจเป็นอีกเครื่องยนต์หนึ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวให้สามารถแข่งขันได้ เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน