EA ครึ่งปีแรก กำไร 1.4 พันล้าน มั่นใจเคลียร์ดบ.หุ้นกู้ตามนัด ลุยหาพาร์ทเนอร์
EA ครึ่งปีแรกกวาดรายได้หมื่นล้าน และ กำไรสุทธิ 1.4 พันล้าน มั่นใจคืนหนี้หุ้นกู้ตามแผน แม้รายได้จากธุรกิจ Commercial EV ลดลง แต่ยังมีรายได้ประจำจากธุรกิจโรงไฟฟ้า เดินหน้าหา Strategic Partner ร่วมลงทุนเสริมแกร่ง ปักหมุดรุก EV Truck เจาะลูกค้ารายใหญ่ รับกระแส Zero Emission
นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า แม้รายได้และกำไรในครึ่งแรกของปี 2567 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบ EV Bus ให้กับลูกค้ารายใหญ่ลดต่ำลง แต่ EA ยังมีรายได้ประจำที่เกิดขึ้นจากการขายไฟให้กับภาครัฐเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทเพียงพอสำหรับการชำระคืนดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้และคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1,430.44 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยลดลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ จากผลการดำเนินงานของธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เนื่องจากการหมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder)
สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ในส่วนของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ บริษัทฯจะมุ่งเน้นไปที่การจำหน่ายรถหัวลากไฟฟ้า (EV Truck) เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการส่งมอบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) JWD กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอช เอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีคู่ค้าอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมการส่งมอบ EV Truck เพราะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการจากปัญหาราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และสอดรับกระแส Green Energy ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์โลก ในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่บริษัทฯ อยู่ในระหว่างปรับปรุงการออกแบบเพื่อนำแบตเตอรี่ไฟฟ้าไปใช้ในการผลิตรถหัวลากไฟฟ้า
รวมถึงการนำแบตเตอรี่ไปจำหน่ายในรูปแบบของ Energy Storage (ESS) ในส่วนของธุรกิจไบโอดีเซล บริษัทมีรายได้จํานวน 2,042.40 ล้านบาท จากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากการผลิตและจำหน่ายกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และจากการผลิตและน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รวมถึงรายได้จากการผลิตและจำหน่าย PCM
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจอื่นๆ บริษัทฯยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รายได้โครงการรับเหมาก่อสร้างติดตั้ง Solar Rooftop และรายได้จากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะล้านที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ในส่วนของงบดุล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 110,006.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวมจำนวน 69,709.87 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 40,296.48 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2566 จำนวน 3,713.14 ล้านบาท โดยหลักลดลงจากการจ่ายการจ่ายปันผลจำนวน 1,113.85 ล้านบาท ลดลงจากองค์ประกอบอื่นของส่วนของเจ้าของจำนวน 3,426.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1,430.44 ล้านบาท
สำหรับ การบริหารจัดการสภาพคล่อง หลังจากที่บริษัทได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ผู้บริหารได้ใช้นโยบายและการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ในการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 กลุ่มกิจการได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินโดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA)
ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A ผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 1,500 ล้านบาท จากเดิมครบกำหนดในวันที่15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 3.11 ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี และมีหลักประกันให้เพิ่มเติม โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระ
ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A บริษัทได้ขออนุมัติการขยายวันครบกำหนด ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุมซึ่งกำหนดไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนจึงจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 23 สิงหาคม โดยการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งนี้จะต้องมีองค์ประชุมมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน บริษัทคาดว่าจะครบองค์ประชุมและได้รับการอนุมัติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน บริษัทฯอยู่ในระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner ที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาเพิ่มทุน และเพิ่ม Synergy ระหว่างกันรวมถึงการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีพัฒนาการที่สำคัญในไตรมาสที่สอง 2 โครงการที่สำคัญ คือ
- โครงการที่ 1 EA ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement) กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company ในบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว ริเริ่มการเป็นศูนย์กลางการจำหน่าย และบริหารพลังงานสะอาดแบบครบวงจรของประเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพในระยะยาว และตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มรายได้ค่าไฟฟ้า ลดภาระ การนำเข้าน้ำมันดิบพัฒนาโครงการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า จัดหาโซลูชั่น EV ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมร่วมผลักดันสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติ “Battery of Asia”
- โครงการที่ 2 EA ได้เข้าร่วมลงนามเป็น Strategic Partner กับ CRRC Dalain ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องยนต์สันดาปในแบบเก่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อการยกระดับอุปกรณ์เส้นทางคมนาคม ซึ่ง EA และ CRRC Dalian ได้ร่วมมือ
1.ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่และ/หรือระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ดีเซลไฮบริด สำหรับรถไฟหัวรถจักรและรถไฟโดยสาร
2. ร่วมกันสำรวจและประเมินความต้องการของลูกค้า จำหน่ายและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกันในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ
3. ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ตามความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยี การผลิตรถไฟที่แข็งแกร่งของ CRRC Dalian และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมและเทคโนโลยี Ultra-fast charge ของ EA เพื่อสร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีในระยะยาว ในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพ
4. ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบในประเทศไทย