“การบินไทย” เคาะกรอบราคาเพิ่มทุน 2.54 บาท ก่อนกลับมาซื้อขายตลาดหุ้น

“การบินไทย” เคาะกรอบราคาเพิ่มทุน 2.54 บาท ก่อนกลับมาซื้อขายตลาดหุ้น

"การบินไทย" รีเทินร์ตลาดหุ้นไทยยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 9,822 ล้านหุ้นราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น ให้ 3 กลุ่ม ผู้ถือหุ้นเดิม-พนักงานและบุคคลวงจำกัด ออกเกณฑ์ Lock - up ห้ามขาย 1 ปี คาดออกจากแผนฟื้นฟู Q2/ 68 พร้อมกลับเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย

         

            บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และ ร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

       โดยมีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นให้กลายเป็นบวกด้วย (ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวน ไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น   (ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมตามแผนฯ เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจของเจ้าหนี้ตามแผนฯ (Voluntary Conversion) และ (ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุนโดยความสมัครใจของเจ้าหนี้ตามแผนฯ รวมถึงการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น (รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี)) ให้แก่บุคคลตามที่แผนฯ กำหนด

        ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ โดยกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ ทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ต่อจากนั้น ภายหลังบริษัทฯ ส่งงบการเงินปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงต้นปี 2568 แล้ว คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568

       

       นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับการบริหารจัดการองค์กรให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ มุ่งให้เกิดผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาทเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 การมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท และไม่ผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตามส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท

       “การบินไทย” เคาะกรอบราคาเพิ่มทุน 2.54 บาท ก่อนกลับมาซื้อขายตลาดหุ้น

        ขั้นต่อไปจึงเป็นการเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุน ซึ่งประกอบด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ลงทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยปรับให้โครงสร้างทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก และสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 อย่างไรก็ดีการบินไทยยังต้องผูกพันตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยจะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จนครบถ้วนตามแผนฯ”

       “การบินไทย” เคาะกรอบราคาเพิ่มทุน 2.54 บาท ก่อนกลับมาซื้อขายตลาดหุ้น

        นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ. การบินไทย  เผยว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ ผ่านการเพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อรองรับ

         1. การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 คิดเป็นมูลค่า 12,827,461,287 บาท           

       โดยการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 5,039,896,007 หุ้น ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5   เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด โดยการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น

       2. การใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

       และ 3. การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุน ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6  และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้โดยความสมัครใจ ในจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของยอดดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้

      การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน การบินไทยจะเสนอขายโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น ให้แก่บุคคลตามที่แผนฯ กำหนด โดยแบ่งลำดับการจัดสรรเป็น 3 ลำดับ ดังนี้          

        1.ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนโดยไม่จัดสรรและเสนอขาย ให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ 

        2. พนักงานของการบินไทย และ 3. บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งจะจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัดในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายให้   แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงาน โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควร แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า  2.5452 บาทต่อหุ้น”

     เพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังจากวันที่กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-upห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบ 1 ปี  นับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

       "หลังจากวันที่ครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละราย สามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ถูกห้ามขายซึ่งอ้างอิงเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ” นางเฉิดโฉม กล่าวเสริม