ก.ล.ต.หนุนเดินหน้าฟ้อง‘มอร์’ พร้อมร่วมมือ ‘ดีเอสไอ-อัยการ‘ ให้ข้อมูลเพิ่ม

ก.ล.ต.หนุนเดินหน้าฟ้อง‘มอร์’ พร้อมร่วมมือ ‘ดีเอสไอ-อัยการ‘ ให้ข้อมูลเพิ่ม

“ก.ล.ต.” พร้อมประสานให้ “ข้อมูลเพิ่มเติม” กรณีอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 9 ราย จาก 42 ราย พร้อมยื่นยันกระบวนการยังดำเนินการต่อตามกฎหมาย ด้าน “ดีเอสไอ” ทำความเห็นแย้งยืนยันสั่งฟ้องผู้ต้องหาปั่นหุ้นมอร์”ทั้งหมด ชี้รอติดตาม อัยการสูงสุด จะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่

จากรณีก่อนหน้านี้ “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานว่าทางพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีสร้างราคา หรือการปั่นหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE จำนวน 9 ราย จากผู้ต้องหาทั้งหมด 42 ราย หลังจาก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ ดีเอสไอ ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว  

ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้ที่มีรายชื่อหลุดฟ้องในครั้งนี้ จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย นายอธิภัทร พรประภา ผู้ต้องหาที่ 3 , นางอรพินธุ์ พรประภา ผู้ต้องหาที่ 4 , นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล ผู้ต้องหาที่ 5 , นายชูโบดีบ พลาซันต้า ดัส (Mr.Shubhodeep Prasanta Das) ผู้ต้องหาที่ 11 , นายเกรียงศักดิ์ วงศ์โอสถพานิช , นายฐนวัฒน์ รุ่งสิริประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 20 , นายพิเชษฐ์ ผลสุวรรณชัย ผู้ต้องหาที่ 31 , นายไพศาล เกษมศิรินาวิน ผู้ต้องหาที่ 34 , นายปภิณวิช รอดบางยาง ผู้ต้องหาที่ 36 และ นายพรเดช อุยะนันทน์ ผู้ต้องหาที่ 41

ก.ล.ต.หนุนเดินหน้าฟ้อง‘มอร์’ พร้อมร่วมมือ ‘ดีเอสไอ-อัยการ‘ ให้ข้อมูลเพิ่ม

หากย้อนกลับไป “จุดเริ่มต้น” หุ้น MORE เกิดขึ้นปลายปี 2565 จากการที่หุ้นได้ถูกเทขายลงมาอย่างหนัก จนราคา “หุ้นติดฟลอร์” (Floor) นานถึง 5 วันติดต่อกัน จนกระทั่งพบเกิดจากการซื้อขายที่ผิดปกติ ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งห้ามซื้อขายหุ้น MORE ดังกล่าวในทันที และเร่งดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

ต่อมาบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) 11 แห่ง ได้เข้าร้องทุกข์กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตำรวจสอบสวนกลาง ว่า ได้พบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น MORE และสร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์หลายราย มีมูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสอบสวนของ ปปง. พบว่ามีการซื้อขายหุ้นที่ปกติจริง จากการส่งคำสั่งซื้อหุ้นกว่า 1,500 ล้านหุ้น ของนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในช่วงเปิดตลาด (ATO) ที่ราคา 2.90 บาท มูลค่าราว 4,400 ล้านบาท ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ 11 แห่ง แต่นายอภิมุข ไม่ชำระค่าซื้อหุ้น จนสร้างความเสียหายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ โดยคดีดังกล่าวดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ

โดยปมดังกล่าวถือว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนและความเชื่อมั่นใน “ตลาดหุ้นไทย” อย่างมาก พร้อมทั้งทำโบรกเกอร์หลายเจ้าต้องเจ็บสาหัส และคดีดังกล่าวจนถึงปัจจุบันคดีความยังไม่จบ แต่ล่าสุดคดีหุ้น MORE กลับมามีประเด็นอีกครั้ง หลังมีข่าวว่าทางพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 9 ราย 

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลในกรณีที่ทางอัยการไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 9 รายแล้ว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับการสร้างราคาหุ้น MORE แต่ตอนนี้ตนเองยังไม่ทราบในรายละเอียดเหตุของการไม่สั่งฟ้องดังกล่าว    

      อย่างไรก็ตาม คดีความดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ทางดีเอสไอได้ทำความเห็นแย้งยืนยันความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดกลับไปแล้ว โดยทางก.ล.ต. พร้อมประสานงานความร่วมมือกับทางอัยการและดีเอสไอ หากดำเนินการตรวจสอบ และยังต้องการข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม  

     “ตามกระบวนการปกติ โดย ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำผิด ไปยังพนักงานสอบสวน ทางดีเอสไอ เป็นเจ้าของสำนวนคดี เมื่ออัยการ ไม่รับคำฟ้อง ทางดีเอสไอ จะเป็นผู้ทำความเห็นแย้งกลับไป ซึ่งตอนนี้ทราบว่าทางดีเอสไอ ได้แย้งกลับไปแล้ว  ต้องรอดูว่าทางอัยการจะมีการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติม ทางก.ล.ต.พร้อมประสานงานให้ความร่วมมือ” 

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทางพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีสร้างราคา หรือปั่นหุ้น ประมาณ 9 ราย จากผู้ต้องหาทั้งหมด 42 ราย หลังจากดีเอสไอ ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดได้ทำความเห็นแย้งเพื่อยืนยันความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 42 ราย ต่ออัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว ดังนั้น จึงต้องติดตามว่าอัยการสูงสุดจะมีความเห็นว่าสั่งฟ้องหรือไม่ต่อไป