ตลท.หนุน ‘SET Carbon’ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2593
ตลท. เดินหน้าความยั่งยืน ทั้งในและนอกองค์กร ชูมีทุกแพลตฟอร์มสนับสนุน “ตลาดคาร์บอนเครดิต” สร้างระบบนิเวศ “SET Carbon” สู่เป้าหมาย “เน็ต ซีโร” ปี 93 ดึง FTSE Russell ยกระดับประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings สู่มาตรฐานสากล ฟื้นเชื่อมั่นนักลงทุน คาดเริ่มใช้ปี 69
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน “กรุงเทพธุรกิจ” เปิดเวทีสู่อนาคตที่ยั่งยืนของธุรกิจไทย “Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business” หัวข้อ Goverment's Mechanisms to Achieve SDGs ว่า การดำเนินงานด้านความยั่งยืนจะสำเร็จได้ด้วย 3 สิ่งสำคัญ คือ 1. กฎหมาย 2.กำหนดนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ 3.ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน
ทั้งนี้ ตลท. มีแพลตฟอร์มทุกรูปแบบสนับสนุนด้านความยั่งยืน ตามแนวทางสำนักงาน ก.ล.ต. ผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณารูปแบบในต่างประเทศที่เหมาะสมกับไทย
ขณะเดียวกัน ตลท. ได้เริ่มเป็นผู้สร้างระบบนิเวศด้านความยั่งยืน ทั้งภายในและนอกองค์กร ด้วยการเดินหน้าพัฒนาระบบ SET Carbon มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2593
ได้แก่ 1.ระบบจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือระบบ SET Carbon เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการ จัดเก็บ และคำนวณข้อมูลปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมธุรกิจแบบอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมาจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ
2.ฟังก์ชันการจัดทำรายงานตามมาตรฐาน และการรับรองความถูกต้องของข้อมูลโดยผู้ทวนสอบ ซึ่งท้ายสุดข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาจัดทำรายงานประจำปี ‘56-1 One Report’ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ อีกทั้งบริษัทยังสามารถนำรายงานไปเผยแพร่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หลังจาก ก.ล.ต. ให้บจ. รายงานการปล่อยคาร์บอน ใน 56-1 One Report พบว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 800 บจ. ในจำนวนนี้ 50% หรือ 400 บจ. มารายงานตามมาตรฐานใน 56-1 One Report แล้ว 200 บจ. และในจำนวนมี 64 บจ. ทั้งรายงานตามมาตรฐานและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนชัดเจนแล้ว หรือมีสัดส่วนราว 10% ของจำนวนบจ.ทั้งหมด ยังต้องผลักดันต่อไป
3.การให้สิทธิประโยชน์จูงใจ ผ่านผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุน เช่น กองทุนThai ESG ลงทุนในหุ้น ESG ไทย หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG และยังสามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ทำให้บจ.เข้ารายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนยืน ‘56-1 One Report’ เพิ่มขึ้นถึง30%
รวมทั้งช่วยให้สถาบันการเงินมีข้อมูลสำคัญที่เพียงพอต่อการพัฒนาสินค้าทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ในปี 2568 จะเปิดเผยข้อมูลเป็นการทั่วไป จากปีนี้เริ่มแล้ว 20 บจ.
4.การประเมินธุรกิจด้าน ESG ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อคัดเลือก เข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) และยกย่องส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่โดดเด่น
และส่งเสริมและความพร้อมบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพให้เข้าสู่ดัชนีด้านความยั่งยืนสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), FTSE4Good, MSCI ESG เป็นต้น ล่าสุดดึง FTSE Russell ยกระดับการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings สู่มาตรฐานสากล ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน เน้นประเมินจากข้อมูลที่ บจ. เปิดเผยสู่สาธารณะ คาดว่าจะเริ่มใช้ปี 2569 ตั้งเป้าได้ 350-400 บริษัทเข้าร่วม คิดเป็นครึ่งหนึ่งของตลาดในปัจจุบัน หรือ 90% ของมาร์เก็ตแคปรวมในตลาด
และ 5.สร้างการตระหนักรู้ ปรับ mind set เป็นสิ่งที่สำคัญ ตลท. มุ่งสร้างโอกาสและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุนอย่างทั่วถึง ด้วยการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทยและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ และบริการด้าน ESG หลากหลายช่วยสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน