หุ้น DITTO บวกแรง 5.71% Backlog แน่น 4.1 พันล้านบาท ปันผล 2.4% ต่อปี

หุ้น DITTO บวกแรง 5.71% เพิ่ม 0.60 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 11.10 บาท นักวิเคราะห์เผย Backlog แน่น 4.1 พันล้านบาท ปันผล 2.4% ต่อปี ขณะที่ ธุรกิจ Carbon Credit ลุ้นกฏหมาย “ภาคบังคับ”กลางปีนี้ เริ่มมีรายได้อย่างมีนัยสำคัญ 2027
ความเคลื่อนไหว"ตลาดหุ้นไทย"ภาคเช้า ณ วันที่ 10 มี.ค.2568 เวลา 10.20 น. หุ้น DITTO หรือ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บวก 5.71% เพิ่ม 0.60 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 11.10 บาท
จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บล.ลิเบอเรเตอร์ เปิดเผยว่า DITTO รายได้หลัก 2 ทาง คือ บริการทางด้านระบบบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลแบบครบวงจร สัดส่วน 29% และ Innovation Technology Engineering Project มีสัดส่วน 51% (งานระหว่างทำ เช่น สวนสัตว์แห่งใหม่ เฟสแรก 5.3 พันล้านบาท และ พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า 2 พัน ลบ. โดย DITTO ถือหุ้น 25-30% ใน consultum แต่ละงาน) ขณะที่ธุรกิจ Printer ไม่ได้เน้นแล้ว รายได้เหลือเพียง 9%
สำหรับ ผลการดำเนินงานปี 2024 น่าพอใจ กำไรสุทธิ 458 ล้านบาท +36.7% y-y สอดคล้องกับรายได้ 2.4 พันล้านบาท +33.9% y-y อัตรากำไรขั้นต้น 27.1% ลดลงจาก 29.8% ปีก่อน จากสัดส่วนงานโครงการ Innovation Tech Engr. มีสัดส่วนเพิ่มสูงถึง 49.4% ทำให้ดึงอัตรากำไรลงมาในช่วงก่อสร้าง อย่างไรก็ดีเราคาดว่า งานบำรุงรักษา(MA) เมื่องานเสร็จ ซึ่งมีมูลค่าราว 20% ของมูลค่างานจะมาดึงอัตรากำไรขึ้นในระยะถัดไป
ส่วนงานในมือ และความคืบหน้า ณ 31 ธ.ค. 2024 มีทั้งสิ้น 4.1 พันล้านบาท เป็นงานโครงการ 2.3 พันล้านบาท และ งานจัดการเอกสารฯ 1.8 พันล้านบาท คาดรับรู้รายได้ปีนี้ 3 พันล้านบาท โดยผู้บริหารคาดจะได้งานอีก 1 พันล้านบาทในกลางปีนี้ โดย 1-2 ปีนี้จะมีประมูลงานอีกราว 7 พันล้านบาท เพียงพอสำหรับการทำธุรกิจ โดยในนั้น 4 พัน ล้านบาท จะเป็นงานสวนสัตว์แห่งใหม่เฟส 2 คาดประมูลปลายปีนี้ โดยเฟส 1 ผู้บริหารเผยคืบหน้าไปแล้ว 46% ทว่ามีการปรับแบบทำให้ผู้ว่าจ้างขยายเวลาไปเสร็จในปี 2026
ขณะที่ธุรกิจใหม่ DITTO อยู่ระหว่างพัฒนาป่าชายเลน 1.7 แสนไร่ ซึ่งเป็นป่าที่ผลิต Blue Carbon ได้ ซึ่งเป็นป่าที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าทั่วไป 3-10 เท่าตัว ซึ่งโครงการของ DITTO คาดดูดซับได้ 9.4 tCO,e / ไร่/ ปี โดยในพื้นที่นี้เป็นการปลูกใหม่ 2 หมื่นไร่ ที่เหลือเป็นการให้งบแก่เกษตรกรในพื้นที่ในการพัฒนาบำรุงดูแลรักษา แล้วแบ่งผลประโยชน์ 20% ในอนาคต
ทั้งนี้ ตลาด Carbon Credit ในไทย จากการสอบถามผู้บริหารสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ดังนี้
ปัจจุบันในไทยยังเป็นภาค “สมัครใจ” ทำให้ราคา Carbon Credit ไม่สูงเพียง 200-300 บาท/ ตัน เทียบกับในสิงคโปร์ SGD25/ ตัน (ราว 634 บาท/ ตัน) ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ผลักดันไปสู่ภาคบังคับคือ การออกกฏหมาย Carbon tax ซึ่งสิงคโปร์ได้เริ่มใช้ไปแล้วในปี 2019 (เครื่องมืออื่นๆ เช่น การหักกลบ Carbon Credit, กำหนดโควต้าการปล่อยคาร์บอนฯ เป็นต้น)
ประเทศไทยอยู่ระหว่างร่างกฏหมายสำหรับภาคบังคับ คาดกระบวนการอนุมัติจะเกิดขึ้นในปีนี้ แล้วเริ่มบังคับใช้ในปี 2026 ซึ่ง ผบห. เชื่อว่าตลาดการซื้อขายที่เกิดจาก “ภาคบังคับ” จะเกิดในปี 2027 พร้อมกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตของ DITTO
ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วนรวมกันราวๆ 385 ล้านตัน/ ปี (เกษตรกรรม-อุตสาหกรรม-บำบัดของเสีย) ซึ่งผลผลิตที่ DITTO ทำได้จาก 1.7 แสนไร่ จะอยู่ที่ราว 1 ล้านตัน/ ปี จะเห็นว่าอุปสงค์นั้นมากกว่าอุปทานอย่างมาก และในปัจจุบัน DITTO ผู้เล่นรายเดียวที่มุ่งพัฒนาในเชิงพาณิชย์
โดยผู้บริหาร คาดว่าเมื่อกฎหมาย “ภาคบังคับ” เริ่มต้นใช้ ราคา Carbon Credit ในไทยจะพุ่งขึ้นสะท้อนอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน ซึ่งหากใช้สมมติฐานที่ 2,000 บาท/ ตัน (ในยุโรป 80-100 ยูโร เท่ากับ 2,926–3,657 บาท/ ตัน) และอัตรากำไรสุทธิ 10-15% เราคาดว่าจะเกิดกำไร 200-300 ลบ. ซึ่งจะยกฐานกำไรอีก 50-60% ในอนาคต อย่างไรก็ดีต้องขึ้นกับสภาวะอุปสงค์และอุปทานในประเทศขณะนั้นด้วย
“เรามีมุมมอง บวก กับทิศทาง DITTO ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยระหว่างรอพัฒนาการด้านกฏหมาย “ภาคบังคับ” และ การเติบโตของป่าชายเลน(ปัจจุบันโตสูง 1.5 เมตรแล้ว) ซึ่ง ผบห.ตั้งเป้าจะเก็บเกี่ยว Carbon Credit เพื่อสร้างรายได้ในปี 2027 คาดผลกำไรรายปีจะยืนได้ 400+ ลบ./ ปี จาก Backlog ที่หนาแน่น พร้อม Dividend yield ที่ 2.4% ต่อปี ซึ่งมองว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับนักลงทุนที่รอได้ ปัจจุบันหุ้นซื้อขายที่ Trailing P/E ที่ 15.9x เรามองว่าอยู่ในระดับสมเหตุสมผลสำหรับการพิจารณาศึกษาลงทุน จากที่เคยขึ้นไปถึง 81-119 เท่าในปี 2021-22”