ฝนตกหนัก-น้ำท่วม เตือนใจลดโลกร้อน
ปฏิบัติการต้านโลกร้อนต้องทำถึงขนาดปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจ รัฐบาลกำหนดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนใช้นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) รวมถึงปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
สถานการณ์ร้อนๆ ในช่วงบ้านเมืองถูกฝนกระหน่ำแน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่อง “น้ำท่วม” วานนี้ (8 ก.ย.) หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศกรุงเทพ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งตั้งแต่ช่วงเที่ยงๆ หลายพื้นที่เริ่มมี “ฝนตกหนัก” และเกิดน้ำท่วมขังขึ้นซึ่งโลกทวิตเตอร์ติดแฮชแท็ก “น้ำท่วม” ขึ้นมาบนเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ชาว กทม.คงนึกภาพออกว่า สภาพฝนตก น้ำท่วม ในเมืองฟ้าอมรแห่งนี้แท้จริงแล้วคือนรกบนดิน เรื่องนี้ไม่ใช่เทวดากลั่นแกล้งแต่เป็นเพราะฝีมือมนุษย์
ต้องยอมรับว่าสองปีมีนี้ข่าวสภาพอากาศสุดขั้วจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลก ล่าสุดคือฝนฤดูมรสุมตกหนักต่อเนื่องหลายสัปดาห์เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน คร่าชีวิตประชาชนกว่า 1,000 คน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 33 ล้านคน พื้นที่มรดกโลก “โมเฮนโจดาโร” ลุ่มน้ำสินธุที่ก่อตั้งขึ้นในยุคสำริดราว 5,000 ปีก่อนเสียหายอย่างหนัก ฟังข่าวแล้วน่าเศร้า ที่ยกตัวอย่างน้ำท่วมเพราะคนไทยเข้าใจดี เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นปัญหาที่ประสบกันมาทุกปีมากน้อยแตกต่างกันไป น้ำแล้งสร้างความเสียหายอย่างช้าๆ แต่น้ำท่วมนั้นมาอย่างรวดเร็ว ประชาชนรับมือไม่ทัน ประกาศแจ้งเตือนจากทางการจึงสำคัญมาก
จะว่าไปแล้วปฏิบัติการต้านโลกร้อนต้องทำถึงขนาดปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจ รัฐบาลกำหนดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนใช้นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) รวมถึงปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญระดับโลก สอดรับกับข่าวบีวายดีบริษัทผลิตรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดของจีนเข้ามาซื้อที่ดินตั้งโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ตั้งเป้าขายในประเทศพร้อมส่งออกไปยังอาเซียนและยุโรปต่อไป
เรื่องลดโลกร้อนภาครัฐบาลทำ ภาคเอกชนทำ ภาคประชาชนต้องทำด้วย ลดการใช้ถุงพลาสติก ลดการใช้รถส่วนตัว ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ และวิธีการอื่นๆ ลืมกันหรือยัง แน่นอนว่าคนที่มีกำลังทรัพย์ มีอำนาจซื้อ ต้องการใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย แต่ผลจากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปสู่คนยากคนจนที่มีโอกาสใช้ทรัพยากรน้อยกว่า อย่างปากีสถานเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย กลับต้องเจอความเสียหายที่ตนเองไม่ได้ก่อ น้ำท่วมแต่ละครั้งดูเผินๆ ทุกคนอาจเดือดร้อนเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงๆ คนยากจนย่อมลำบากกว่าคนมีเงิน หันไปมองฟ้าครึ้มฝนนอกหน้าต่าง ฝนกำลังมาอีกระลอก คราวนี้น้ำจะท่วม ณ จุดใดอีก ถ้าไม่อยากให้คนรุ่นหลังต้องเผชิญปัญหาแบบเดิม ๆ ก็ขอให้น้ำท่วมครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ช่วยกันปรับพฤติกรรมลดภาวะโลกร้อนก็แล้วกัน