How to เอาตัวรอดจาก “ไฟดูด” ทั้งบนดิน และในน้ำ
จากกรณี "ไฟดูด" นักเรียน เรียนรู้วิธีารเข้าไปให้การช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงและต้องทำด้วยความปลอดภัย โดยมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อาสาฉุกเฉินการแพทย์ (FR) ที่เคยให้ข้อแนะนำผ่านบทความวิชาการเอาไว้ดังนี้
หลังจากที่ประเทศไทยหลายๆ จังหวัด รวมถึงชาวกทม. และปริมณฑล ที่รับมือกับฝนตก และพายุอย่างหนัก โดยเฉพาะในเดือนกันยายนของทุกปีที่ถือเป็นเดือนพีคของหน้าฝนไทย โดยหลังจากนี้คือตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศแล้วว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีฝนตกหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย
และเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุเศร้าจากกรณีที่นักเรียนหลายรายโดนไฟดูดในบริเวณน้ำท่วม กรุงเทพธุรกิจสรุป How to เอาตัวรอดจาก “ไฟดูด” ทั้งบนดิน และในน้ำ
- ไฟดูดต้องช่วยอย่างไร?
วิธีการเข้าไปให้การช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงและต้องทำด้วยความปลอดภัย โดยมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อาสาฉุกเฉินการแพทย์ (FR) ที่เคยให้ข้อแนะนำผ่านบทความวิชาการเอาไว้ดังนี้
1. ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุ
2. แจ้งสายด่วน 1669
3. เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณไฟรั่ว
4. ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าในการช่วยเหลือเสมอ
5. หากผู้ประสบเหตุอยู่ในน้ำขัง ผู้ช่วยเหลืออย่าลงน้ำ!
- ถูกไฟดูดอยู่ในน้ำขังช่วยอย่างไร
กรณีที่ผู้ถูกไฟดูดอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ผู้ช่วยเหลือไม่ควรลงไปในน้ำเด็ดขาด จะต้องตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวัง จากนั้นห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดด้วยผ้าแห้ง และจะต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ขณะที่ นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย เจ้าของเพจ “Drama Addict” แนะนำเพิ่มเติมว่า หากเกิดเหตุลักษณะดังกล่าวให้อยู่ห่างจากเสาไฟเหล็กแบบนั้นให้มากที่สุด และโทรแจ้งไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง อย่างไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้แจ้ง 1129 เพื่อตัดกระแสไฟ ขั้นต่อมาให้หาวัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ผ้าแห้ง ถุงมือยาง ถุงพลาสติกแห้ง ฯลฯ เอาไปฉุดผู้ประสบเหตุออกมาจากแหล่งไฟให้ไวที่สุด
หลักการสำคัญของการช่วยคนที่ถูกไฟดูดคือ คนช่วยต้องปลอดภัย เพราะถ้าเกิดไม่ปลอดภัย ตัวเปียก ก็จะโดนไฟดูดไปด้วย คนเจ็บ คนตาย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองคน สามคน สี่คนไปเรื่อยๆ
หากช่วยผู้ประสบเหตุออกมาได้แล้ว แต่คนเจ็บหมดสติ ให้เริ่มทำ CPR ทันที (ทำบริเวณพื้นที่แห้ง) แล้วรีบโทรหา 1669 แต่ที่สำคัญต้องเอาคนเจ็บออกมาให้ห่างจุดที่ไฟฟ้ารั่วให้มากที่สุด
- ก้าวขาแคบๆ ลดระยะไฟดูด
นอกจากนี้เพจ “ฟิสิกส์แม่งเถื่อน” ยังอธิบายเพิ่มเติมว่านอกจากไฟฟ้าดูดที่เกิดจากการสัมผัสสายไฟแล้วไหลผ่านตัวเราลงดินที่เราคุ้นเคยแล้วก็ยังมีไฟดูดที่เกิดจากแรงดันช่วงก้าว
สมมติว่ามีแท่งอันหนึ่ง มีศักย์ไฟฟ้า 1000 โวลต์ ตรงจุดศูนย์กลางที่มันปักอยู่ก็จะ 1000 โวลต์ แล้วรัศมีที่แผ่ออกไปก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ 1000 โวลต์ 900 โวลต์ 800 โวลต์ 700 โวลต์ ลดไปเรื่อยๆ จนเป็น 0 โวลต์ ตามระยะที่ห่างจากจุดศูนย์กลาง
ถ้าขาเราบังเอิญ ข้างนึงจิ้มที่ 900 โวลต์ อีกข้างจิ้มที่ 700 โวลต์ ก็จะเกิดความต่างศักย์ระหว่างขาเราทั้งสองข้าง เท่ากับ 900-700=200 โวลต์ ความต่างศักย์ที่ว่าก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านขาเรา ถ้าผ่านน้อยๆ ก็กล้ามเนื้อกระตุก ผ่านมากก็ชักเกร็งติดอยู่ตรงนั้น ยิ่งติดนานก็ยิ่งอันตราย ดังนั้นถ้าเลี่ยงไม่ได้ หรือเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า พยายามก้าวขาแคบๆ หรือถ้ารู้สึกขนลุก มีอะไรทิ่มขา ก็พยายามหนีให้ไวแบบขาชิดๆ แบบกระดึ้บๆ แทน
- ไฟดูด แม้นิดเดียวก็อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุไว้ว่า ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้มักมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ นั่นคือ อันตรายจาก “ไฟฟ้าดูด” หรือ “ไฟฟ้าช็อก” (electric shock) ไม่ว่าจะเกิดจากละอองฝนอาจกระเด็นไปโดนปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือเกิดจากไฟรั่วตามเสาไฟสาธารณะต่างๆ หากมีคนเผลอไปสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น ก็จะส่งผลให้เกิดไฟดูดและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
สำหรับอาการของคนที่โดนกระแสไฟฟ้าดูด กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจหยุดทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท
หากกระแสไฟฟ้ามีแรงสูงมากๆ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง และอาจเกิดอาการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องได้ บางคนอาจมีอาหารชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว และหมดสติ
-----------------------------------------------------
ที่มา : ฟิสิกส์แม่งเถื่อน, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)