หุ่นยนต์ดินสอ AI คัดกรองมะเร็ง แม่นยำกว่า 90%
การคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 2-5 พันบาท รวมถึงการตรวจมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ขั้นตอนและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน หากมีการนำ AI เข้ามาช่วยคัดกรองเบื้องต้น จะทำให้ราคาถูกลง เข้าถึงง่าย และลดงบประมาณด้านสาธารณสุขประเทศ
“Dinsow AI Nose” นวัตกรรมคัดกรองมะเร็งด้วยลมหายใจ ที่มีความแม่นยำมากกว่า 90% จึงถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน โดยฝีมือคนไทย จาก บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จํากัด (ผู้สร้างหุ่นยนต์ดินสอ) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ ด้วยลมหายใจ ซึ่งในลมหายใจมีส่วนประกอบของ VOC - Volatile Organic Compound หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย สามารถตรวจสอบได้ว่าร่างกายมีความผิดปกติจากเซลล์มะเร็งตัวใด เช่น หากมีความเสี่ยงมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ฯลฯ ร่างกายจะผลิตสารบางตัวขึ้นมาแต่ในปริมาณที่น้อย ดังนั้น ระบบ AI จะเข้ามาช่วยประมวลผล และส่งผลการตรวจกลับมายังโมบายแอปพลิเคชั่น Dinsow Mini ซึ่งโหลดได้ทั้ง Android และ iOS
“เฉลิมพล ปุณโณทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด อธิบายจุดเริ่มต้นของการพัฒนา Dinsow AI-Nose ว่า จากความเชื่อที่ว่าคนไทยสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทัดเทียมและเหนือชั้นกับต่างประเทศได้ กระทั่งค้นพบวิวัฒนาการด้าน Electronic Nose ในการตรวจโรค จึงเริ่มคุยกับนักวิจัยและทีมแพทย์ พร้อมกับขอทุนวิจัยเมื่อ 3 ปีก่อน โดยได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ AI ของ Dinsow AI Nose มีการวิจัยโดยการนำกลิ่นลมหายใจของผู้ป่วยมะเร็งที่แตกต่างกัน ให้ระบบเซ็นเซอร์จับและแยก เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่มีกลิ่นจากการเน่าเสียของเนื้องอกต่างๆ นอกจากนี้ เครื่องดังกล่าว ยังสามารถตรวจหาวัณโรค และโควิด-19 ได้ แต่เนื่องจากโรคดังกล่าว เป็นโรคที่อันตรายเพราะเป็นโรคติดต่อ จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทีมนักวิจัยด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากมีประสบการณ์มากขึ้น จะพัฒนาการตรวจโรคอื่นๆ ต่อไป ขณะนี้ได้ทำการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
“ที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และเริ่มพูดคุยกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ โดย อย. ให้การสนับสนุน มีการเทียบกับการมาตรฐานการตรวจวัดมะเร็งทางการแพทย์ ซึ่งแม่นยำเกือบ 100% โดยเฉพาะมะเร็งปอด 99% ขณะที่ มะเร็งเต้านมแม่นยำ 96% นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบความแม่นยำของ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งโพรงจมูก นวัตกรรมดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์กับประชาชนเพราะหลายคนยังไม่ทราบว่าตนเองเริ่มเป็นมะเร็งหรือยัง”
เฉลิมพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับมะเร็งเต้านมกับมะเร็งปอด ตรวจฟรีได้ตลอด ขณะที่มะเร็งอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการลงทุนการวิจัย ซึ่งคาดว่าจะยังฟรีอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้คน โดยมีให้บริการที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2 เครื่อง และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มทำการวิจัย จำนวน 1 เครื่อง โดยที่ผ่านมา มีกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยในการตรวจหลายร้อยราย หากมีการผลิตและใช้จริง ราคาจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท และมีแผนจะส่งออกตลาดต่างประเทศอีกด้วย
“นายแพทย์อิสระ เจียวิริยบุญญา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี อธิบายถึงกระบวนการพัฒนาเซ็นเซอร์ว่า ที่ผ่านมา ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งหลายที่ เพื่อเก็บข้อมูลให้ AI เรียนรู้ว่าลมหายใจแบบไหน คือ คนปกติ หรือ เป็นลมหายใจผู้ป่วยมะเร็งชนิดใด วันนี้มีการเทรนด์ AI สามารถตอบโจทย์แยกได้ 4 ประเภท คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด ความแม่นยำมากกว่า 90% รวมถึง มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อให้มั่นใจ
ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น มะเร็งปอดค่าเอ็กซเรย์ราว 200-300 บาท หรือ มะเร็งเต้านม การตรวจแมมโมแกรม ต้องใช้ค่าใช้จ่ายราว 2,000 – 5,000 บาท ดังนั้น Dinsow AI Nose จะช่วยให้การคัดกรองเบื้องต้นง่ายขึ้น หากสงสัยว่ามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็ง จึงค่อยไปตรวจอีกครั้ง ช่วยลดงบประมาณของประเทศในการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ดินสอ ยังสามารถตรวจเจอมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรก หรือมีแนวโน้มสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง หากผลออกมาค่าสูงเกิน 90 จากเต็ม 100 แนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง
“ขณะที่ต่างประเทศก็มีการตรวจลมหายใจ แต่ในรูปแบบต่างกัน ดังนั้น ถือว่านี่เป็นผลงานนวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นมาจากฝีมือคนไทย ด้วยการวิจัยจากคนไข้ของเราเอง เครื่องแมมโมแกรมที่นำเข้าเครื่องหนึ่งราคาราว 20 – 50 ล้านบาท ซึ่ง Dinsow AI Nose ราคาถูกกว่าหลายเท่า ดังนั้น ปริมาณการใช้แมมโมแกรมก็จะลดลง ตอนนี้เราเป็นเจ้าของเทคโนโลยี สามารถลดการนำเข้าได้ ทั้งนี้ หลังจากตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ถุงพลาสติกสามารถกำจัดทิ้งได้ตามปกติ เพราะไม่ได้เป็นขยะอันตราย”
“สำหรับแผนการในอนาคต นายแพทย์อิสระ กล่าวว่า มีแผนที่จะขยายการให้บริการไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่าย นอกจากนี้ หากมีความแม่นยำมากขึ้น มีแผนจะเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ต่อไปในอนาคต” นายแพทย์อิสระ กล่าว
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวนำมาจัดแสดงในงานอินเตอร์แคร์ เอเชีย 2020 (InterCare Asia 2020) งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่สำหรับผู้สูงวัยครบวงจร ครั้งที่ 5 ที่ ฮอลล์ 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2563