สงสัยไหม ! ก่อนฉีดวัคซีนโควิด รับวัคซีนแบบอื่นอยู่ ต้องทำอย่างไร
ถ้าฉีดวัคซีนแบบอื่นอยู่ อาทิ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก พิษสุนัขบ้า ฯลฯ แล้วจะไปฉีด“วัคซีนโควิด”ต้องเว้นระยะห่าง หรือปฎิบัติตัวอย่างไร
การใช้ชีวิตประจำวัน อาจทำให้เราประสบกับอุบัติเหตุ หรือถูกสัตว์เลี้ยงกัดข่วน จำเป็นต้องไปฉีดยากันบาดทะยักหรือพิษสุนัขบ้า แล้วอย่างนี้จะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดได้หรือไม่ หรือต้องเว้นระยะออกไปนานเท่าไร
ในเรื่องนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีคำตอบ
ถ้าอยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกันในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถฉีดในช่วงใกล้เคียงกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไร
วัคซีนอื่นๆ ที่กล่าวถึง อาทิ
-วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส จะฉีดให้ทุกคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ หรือไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ โดยฉีดสองเข็ม
-วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดกระตุ้นปีละครั้ง
-วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดให้เฉพาะผู้มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 3 เข็มคือ วันที่ 1,7 และ 21
-วัคซีนงูสวัด ฉีดให้ทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 เข็ม คร้้งเดียวตลอดชีวิต
-วัคซีนบาดทะยัก ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากเชื้อบาดทะยัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อตั้งแต่ 3-21 วัน หรืออาจนานกว่านั้น โดยเฉลี่ยมีอาการภายใน 10-14 วัน พิษของเชื้อจะทำลายระบบประสาท ทำให้มีอาการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ชักกระตุกและ รุนแรงจนเสียชีวิตได้ ฯลฯ
เนื่องจาก วัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิดควบคู่กับวัคซีนอื่นๆ เรื่องนี้จึงได้รับคำตอบที่ต่างกัน อาทิ สามารถฉีดวัคซีนไวรัสโควิดไปได้เลย, ไม่ต้องเว้นระยะห่าง, ให้เว้นระยะห่าง 1 สัปดาห์ ฯลฯ
แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยแบบหายห่วง มีข้อแนะนำว่า ให้เว้นระยะห่างระหว่างวัคซีนโควิด 19 กับวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลา อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และหลีกเลี่ยงการรบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดตามมา โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ก่อนวัคซีนอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี วัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัด หรือวัคซีนบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล สามารถฉีดได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา และในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด 19 ก็ให้ฉีดวัคซีนทันทีที่ทำได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ซึ่งต้องคำนึงถึงมากกว่า
คำถามที่ถามกันบ่อยๆ (จากกรมควบคุมโรค)
วัคซีนโควิด 19 ต่างยี่ห้อสามารถฉีดสลับกัน (Interchangeable) ได้หรือไม่
"ในขณะนี้ยังแนะนำให้ฉีดชนิดเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้ หรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากวัคซีนชนิดเดิม"
การฉีดวัคซีนแต่ละชนิดในเข็มที่ 1 และ 2 ควรมีระยะห่างนานที่สุดเท่าไร และในกรณีกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนเข็มที่ 2 เกินกำหนดระยะห่างจากเข็มที่ 1 มากกว่า 4 สัปดาห์ ควรดำเนินการอย่างไร
"ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Sinovac คือ 2-4 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca คือ 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์
ถ้าจำเป็น หากกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนล่าช้า ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามให้กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนโควิด 19 ในครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย"
ถ้าจะเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนในเข็ม 2 ได้หรือไม่
ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac ครั้งที่ 1 มีอาการชาแขนขา หรืออ่อนแรงด้านที่ฉีดวัคซีน สามารถรับวัคซีนของบริษัท Sinovac ในครั้งที่ 2 ได้หรือไม่
"อาการชา อ่อนแรง หรืออาการคล้ายอาการของระบบประสาทอื่น ๆ ที่เป็นอาการชั่วคราว ไม่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้น และหายเป็นปกติ อาการเหล่านี้ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเดิมในเข็มที่ 2 แต่หากมีอาการรุนแรงและกังวล ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2”
ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca มีอาการแพ้วัคซีน และมีอายุเกิน 60 ปี จะสามารถฉีดวัคซีนของบริษัท Sinovac ได้หรือไม่ และควรเว้นช่วงห่างเท่าไร
"สามารถให้วัคซีนของซิโนแวคแทนได้ โดยเว้นระยะห่าง 10-16 สัปดาห์ (ตามระยะห่างของ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca เข็ม 1 และ เข็ม 2) การเว้นช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็ม 2 จากวัคซีนเข็ม 1 ในกรณีเปลี่ยนชนิดของวัคซีนให้พิจารณาตามชนิดของวัคซีนที่ฉีดเข็มที่ 1 เป็นหลัก"