ถอดรหัสโมเดล‘เส้นด้าย’ ทุกวินาทีมีค่าสำหรับคนติดเชื้อ
ช่วงวิกฤติโควิด เหตุใดคนยากไร้ คนขาดที่พึ่ง นึกถึง “เส้นด้าย” อีกเรื่องเล่าจากมุม’ภูวกร ศรีเนียน’ ผู้ร่วมก่อตั้งกับการลุยงานแบบมีแผน
ณ วินาทีนี้ เชื่อได้ว่า คนเกือบทั้งประเทศรู้จัก "เส้นด้าย" อาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ ที่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19
กว่า 5 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 64 ที่อาสาสมัครเหล่านี้ลงไปทำงานตามตรอก ซอก ซอย ของชุมชน และยังทำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
พวกเขาเลือกที่จะทำอย่างมีแบบมีแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการระดมความคิดจากอาสาสมัครหลากหลายอาชีพ เพื่ออุดช่องว่างในสิ่งที่รัฐทำไม่ได้ และไม่ได้ทำในช่วงวิกฤติโควิด
เส้นบางๆ ที่เรียกว่าเส้นด้าย
แค่นึกถึงคำว่า เส้นด้าย เส้นบางๆ ก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ทำงานบนความเป็นความตายของผู้คนในช่วงโควิด ซึ่งการช่วยเหลือคนติดเชื้อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งการดูแล ป้องกัน และให้คำแนะนำ โดยพวกเขาได้รับการอบรมมาก่อน ประกอบกับใจเต็มร้อยที่อยากช่วยผู้อื่น
(ภาพจากกลุ่มเส้นด้าย)
ไม่ง่ายเลยที่จะแบกถังออกซิเจนเข้าไปในตรอกเล็กๆ เพื่อช่วยคนที่ลมหายใจกำลังรวยริน รวมถึงช่วยตรวจเชิงรุก และหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ เพื่อเข้ารับการรักษาในระบบโรงพยาบาล รวมถึงแบ่งปันอาหารยาให้ ซึ่งปัจจุบันพวกเขาก็ยังทำงานเหล่านี้อยู่
(ภาพจากกลุ่มเส้นด้ายที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือคนในชุมชน)
ขอย้อนไปสักนิด กลุ่มเส้นด้าย ตั้งขึ้นมาเพราะเพื่อนของเขา“อัพ” อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต เสียชีวิตจากโควิด เนื่องจากหาเตียงในโรงพยาบาลไม่ได้ ไม่ว่าจะประสานงานกี่ครั้งกี่หน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“นอกจากอัพจะเสียชีวิต ครอบครัวของเขา ยังมีย่าและป้าเสียชีวิตอีก เรื่องนี้แม่เขาก็รับไม่ได้ ต้องรับการเยียวยาจิตใจเหมือนกัน” ภูวกร ศรีเนียน หนึ่งในสามผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม เส้นด้าย เล่า
หลังจากภูวกรได้ทำงานอาสาสมัครร่วมกับเพื่อนๆ ในช่วงหลายเดือน เขาเองก็ไม่ได้คิดว่า กลุ่มเส้นด้ายจะมาไกลขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาทำงานแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตัดสินใจตรงนั้นเลย
“เราก็ไม่คิดว่ามันจะขยายใหญ่แบบนี้ กลุ่มเรามีทั้งนักธุรกิจ นักกฎหมาย หลากหลายอาชีพ การจัดการปัญหาจึงไม่ได้มีมิติเดียว
เหมือนคนในกระทรวงเดียวกันทำงานก็คิดในมิติเดียว แต่กลุ่มของเรามาจากหลากหลายอาชีพ ตัดสินใจได้เร็ว จึงแก้ปัญหาได้เร็ว”
โมเดล ‘เส้นด้าย ด้ายที่ไม่มีเส้น’
คงต้องยอมรับว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มเส้นด้ายมีความชัดเจนในแนวทางที่วางไว้ด้วยคำจำกัดความง่ายๆ "เส้นด้าย ด้ายที่ไม่มีเส้น"
นับตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่ม ทำงานแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์หรือมีวาระซ่อนเร้นใดๆ แต่เลือกที่จะอุดช่องว่างของปัญหาเท่าที่จะทำได้
ถ้าถามว่า อยากให้เส้นด้ายกลายเป็นโมเดลเรื่องนี้ไหม
ภูวกร บอกว่า เราต้องการให้เป็นอย่างนั้น เรามาถึงจุดนั้นแล้ว เครือข่ายเส้นด้ายมีอาสาสมัครสองร้อยกว่าคน ตอนนี้ช่วยเหลือคนได้เยอะขึ้น เพราะมีกลุ่มอื่นๆ มาช่วย เราก็ทำงานเชิงรุกจัดใหญ่ได้
“ต้องทำงานเหมือนกองโจร เข้าไปในตรอก ซอก ซอย ไม่ได้มีกลุ่มเส้นด้ายอย่างเดียว องค์กรอื่นก็ทำ เมื่อมีคนมาแชร์ช่วยเหลือเยอะขึ้น ก็จัดการได้ง่ายขึ้น ระบบลงตัวมากขึ้น ตอนนี้เส้นด้ายไปต่อเรื่องอื่นๆ ได้แล้ว เพราะในต่างจังหวัดเริ่มมีบรรยากาศการระบาดของโควิดไม่ปกติ”
‘เส้นด้าย’ต้องลุยตรวจเชิงรุก
อีกภารกิจที่ไม่ต่างจากกลุ่มอื่นคือ ตรวจโควิดเชิงรุก เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน
ภูวกร บอกว่า สิ่งที่ต้องทำคือ การจัดระบบ ตอนนี้มีชุมชนที่ต้องการตรวจเชิงรุกด่วนๆ 30 ชุมชน ไม่ใช่แค่นั้น ผู้กักตัวยังต้องการอาหารแห้งและถุงยังชีพ
“ตอนนี้กลุ่มเส้นด้ายเป็นที่รู้จัก ทำงานเคียงกับองค์กรภาครัฐ ทั้งกรมการแพทย์ สภากาชาด และทหาร ททบ. 5 ฯลฯ ถ้าเรายังไปต่อได้ เราก็ทำต่อไป
ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องโควิดอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นด้วย มีคนที่เขตสายไหมติดต่อมา ครอบครัวมีปัญหาหนี้สินจะฆ่าตัวตาย ไม่รู้จะทำยังไง
ทั้งๆ ที่ ไม่ติดโควิด แต่ไม่มีข้าวกิน สุดท้ายทีมที่สายไหมต้องพามานั่งคุยบำบัดจิต ปลอบใจ พาไปดูโน้นนี่ให้รู้สึกสบายใจ”
ทั้งๆ ที่มีเป้าหมายว่า เส้นด้ายจะลุยช่วยผู้ติดเชื้ออย่างเดียว แต่ตอนนี้มีปัญหาพ่วงท้าย เนื่องจากคนขาดที่พึ่ง
“อย่างที่คลองสามวา มีครอบครัวหนึ่งลูกถูกรถชน กังวลว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ทำคดีให้ เพราะคนที่ขับรถชนลูกของเขาเป็นผู้มีอิทธิพล
เมื่อเราเปิดหัวว่า เส้นด้ายเป็นกลุ่มไม่มีเส้น ก็มีเรื่องพวกนี้เข้ามา เพราะคนไม่มีที่พึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายกลุ่มเรา เพราะเราถูกรู้จักว่า ช่วยเหลือคน
ผมเชื่อว่าสิ้นตุลาคม64 การระบาดของโควิดน่าจะนิ่ง ไม่ได้หมายความว่าผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่ระบบรองรับดีขึ้น ถึงขั้นโรงพยาบาลเอกชนแย่งลูกค้าผู้ป่วยโควิด นั่นเป็นสัญญาณที่ดี”
ส่วนอีกกรณีที่น่าเป็นห่วงคือ การติดเชื้อในต่างจังหวัด ภูวกร เล่าว่า ตอนนี้สามหมู่บ้านบนดอยอุ้มผาง จ.ตาก ต้องปิดดอยห้ามคนเข้าออก อุปกรณ์ก็ส่งไปลำบาก
"เรามีครูดอยอาสาสมัครที่ฝึกจากโรงพยาบาลรามาธิบดีขึ้นไป แต่เข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะมีกติกาไม่ให้คนในออก คนนอกเข้า
และที่จังหวัดตรังก็ขอความช่วยเหลือ เนื่องจากอุปกรณ์สู้โควิดเป็นอุปกรณ์เฉพาะสถานการณ์ จึงหายากในท้องถิ่น อย่างชุด PPE ไม่มีตามร้านทั่วไป
ความเข้าใจเรื่องโควิดดีขึ้น
นับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 64 การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันจะดีขึ้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดน้อยถอยลง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ ช่วงวัย 60 ่ขึ้นไปและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค
"กลุ่มนี้ผมยืนยันเหมือนเดิมว่ามีความเสี่ยง ที่ผ่านมาเพื่อนแม่ยายผมป่วยสามวันเสียชีวิต ทั้งๆ ที่อาการน้อยมาก หรือเมื่อไม่นานภรรยาศิลปินคนหนึ่งเสียชีวิต เท่าที่ประเมินคร่าวๆ อัตราการเสียชีวิตกลุ่มนี้จากคนติดเชื้อ 130 คนมีคนเสียชีวิต 1 คน
ดังนั้นเราก็ต้องทำงานตรวจเชิงรุกให้มากที่สุด วันหนึ่งต้องตรวจได้พันกว่าคน ซึ่งตอนนี้แนวโน้มดีขึ้น โรงพยาบาลเอกชนวิ่งหาลูกค้าติดโควิดแล้ว
สิ่งที่เราทำได้ดีตอนนี้คือ ถ้าเจอคนติดเชื้อ เราจะทำได้เร็ว ทั้งเรื่องการส่งตัวไปรักษา และโรงพยาบาลเอกชนก็เริ่มรับผู้ป่วยสีเขียวแล้ว และพร้อมจะรับผู้ป่วยเหลืองแก่และมีเตียงสนามแบบฉุกเฉิน อาจเป็นพัฒนาการธุรกิจอีกแบบ
อย่างน้อยๆ ถ้าถึงมือเส้นด้าย เอาเข้าระบบได้แน่นอน และคนเข้าใจเรื่องโควิดมากขึ้น บางคนติดเชื้อไม่กี่วันก็หาย คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่"