ปัจจัยอะไรบ้าง เสี่ยงต่อการเป็น”มะเร็งเต้านม”

ปัจจัยอะไรบ้าง เสี่ยงต่อการเป็น”มะเร็งเต้านม”

นอกจากครอบครัวที่มีประวัติเป็น"มะเร็งเต้านม" ยังมี"ปัจจัยเสี่ยง"อีกหลายข้อ ไม่เว้นแม้กระทั่งน้ำหนักเกิน ค่าดัชนีมวลกายเกินแค่ไหน จัดอยู่ในความเสี่ยง และทางเลือกการรักษาแบบไหน

ผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับมะเร็งตำแหน่งอื่นๆ แม้สาเหตุการเป็นมะเร็งเต้านมจะไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง

อาทิเช่น เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เริ่มมีรอบเดือนก่อนอายุ 12 ปีและหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี,ไม่มีบุตร, มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี, ไม่ได้ให้นมบุตรด้วยตนเอง เป็นต้น

นอกจากนี้ครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น แม่ หรือพี่น้อง จะความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น

ความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากน้ำหนักเกิน พฤติกรรมการกินอาหารที่มีไขมันสูงและเนื้อแดง

เรื่องนี้ พลโท รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวในงานเสวนา “มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2021” ว่า ปัจจัยเสี่ยงอีกข้อที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน (ค่าดัชนีมวลกายเกิน 23) จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงน้ำหนักปกติ (ค่าดัชนีมวลกาย 18.50 - 22.90)

เวทีเสวนา“มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2021”

(เวทีเสวนา“มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2021” )

“เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิงน้ำหนักเกิน อาจเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ในเต้านม จึงมีปัจจัยเสี่ยง ต้องหมั่นคลำเต้านมหรือตรวจแมมโมแกรม 1-2 ปีต่อครั้ง”

นพ.กรุณย์พงษ์ เอี่ยมเพ็ญแข พยาธิแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจหาก้อนเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็งเต้านม อาจเจาะเนื้อเยื่อบางส่วนไปตรวจทางพยาธิวิทยา

“การคลำหรือพบก้อนจากการทำแมมโมแกรม ไม่ได้แปลว่าเป็นก้อนมะเร็งเสมอไป รวมทั้งแม้จะพบก้อนเพียงเล็กน้อยจากผลแมมโมแกรม แต่หากผลตรวจทางพยาธิวิทยายืนยันว่าเป็นก้อนมะเร็ง ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

การตรวจเต้านมเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ หากพบความผิดปกติ ก็อย่ากลัวหรือชะล่าใจว่าคงไม่ร้ายแรงอะไร” 

ความก้าวหน้ารักษามะเร็งเต้านม

ปัจจุบันมียามุ่งเป้าชนิดใหม่ที่ผูกติดกับยาเคมีบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาและคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่มียีน HER2 เป็นบวก

ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลว่า

 “บางรายอาจมีเซลล์มะเร็งหลงเหลือหลังผ่าตัด หรือมะเร็งกลับมาอีก จึงต้องปรับยา ยามุ่งเป้าชนิดใหม่ๆ เป็นอีกตัวเลือก ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตนานขึ้น สามารถใช้ได้ระยะเริ่มต้นและระยะแพร่กระจาย

ผลการรักษามีแนวโน้มเป็นที่น่าพอใจ ลดความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ลดขนาดของก้อนมะเร็ง ลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด”

ทักษิณา รัตนศักดิ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและเจ้าของเพจ ‘แมวนมเดียว’ เล่าว่า ก่อนจะเป็นมะเร็งเต้านมไม่มีอาการอะไรเลย คลำไม่มีก้อน

แต่เมื่อปลายปี 2561 ตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งมีการตรวจแมมโมแกรมด้วย ผลออกมาว่า มีหินปูนขนาดเล็กกระจุกตัวอยู่ตามท่อน้ำนม มองเห็นเหมือนรากไม้ แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก 6 เดือน หลังจากนั้นแพทย์ยืนยันว่า หินปูนขนาดเล็กที่พบเป็นมะเร็งแน่นอน

 “เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา แรกๆ พยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคทางอินเตอร์เน็ต แต่มักพบข้อมูลทั่วๆ ไป เช่น มะเร็งคืออะไร มะเร็งเกิดกับอวัยวะใดได้บ้าง มะเร็งแบ่งเป็นกี่ระยะ ถ้าไม่เช่นนั้นก็เจอข้อความเชิงลบ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ

จึงคิดว่าต้องพยายามอยู่กับปัจจุบันและเปลี่ยนความคิด ค้นเรื่องราวผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่เอาชนะโรคมะเร็งเต้านมได้สำเร็จแทน เป็นมะเร็งไม่ได้แปลว่าเสียชีวิตเสมอไป

มะเร็งเต้านม หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรก และรักษาโดยเร็ว มีโอกาสสูงที่จะไม่ต้องสูญเสียเต้านมและรักษาชีวิตเอาไว้ได้

เราโชคดีที่เจอเร็ว แต่เซลล์มะเร็งกระจายตามท่อน้ำนม จึงไม่มีขอบเขตหรือรูปทรงที่แน่ชัด จนไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ ทำให้เป็นที่มาของชื่อเพจ แมวนมเดียว ”

.....................

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/PinkAlertProject และทำแบบทดสอบเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมเบื้องต้นได้ทาง https://herwill.wellcancer.com/