"วิทยสิริเมธี VISTEC" เดินหน้าขับเคลื่อนบัณฑิตนักวิจัย ร่วมสานฝันอนาคตประเทศ
“สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC” เดินหน้าต่อเนื่อง ขับเคลื่อนบัณฑิตนักวิจัย บ่มเพาะองค์ความรู้ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ร่วมสานฝันอนาคตประเทศ
ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังคนของชาติให้มีมาตรฐานและทักษะความสามารถเทียบเท่ากับนานาชาติ แน่นอนว่า "ทรัพยากรคน" คือกำลังและรากฐานสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
เพื่อสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีในระดับโลก ให้สามารถสร้างและใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน นำมาสู่การก่อตั้ง "สถาบันวิทยสิริเมธี" (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology : VISTEC) ขึ้น เพื่อเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานระดับโลกของประเทศไทย ที่ไม่เพียงเพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก หากยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การเป็น "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี"
บนพื้นที่กว่า 3,454 ไร่ ของ วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง สถาบันแห่งนี้ถือเป็นอาณาจักรด้านการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ของประเทศอีกแห่ง ในเมืองนวัตกรรม Smart City ด้วยความตั้งใจให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก เน้นบ่มเพาะคนที่มีศักยภาพด้านการทำวิจัยโดยเฉพาะ โดยในแต่ละปี VISTEC ได้ผลิตบัณฑิตคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เหมาะสมกับการได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนาม "วิทยสิริเมธี" ซึ่งมีความหมายว่า "สถาบันแห่งผู้รู้ อันยอดเยี่ยมด้านวิชาวิทยาศาสตร์"
หากนับจากวันเปิดภาคการศึกษาในปี 2558 เป็นต้นมา สถาบันฯ มีนิสิตที่จบการศึกษาไปแล้วจำนวน 5 รุ่น สำหรับในปี 2564 นี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาจาก "สถาบันวิทยสิริเมธี" จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็นระดับปริญญาเอก จำนวน 26 ราย และระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย และพระราชทานทุนการศึกษา "ศรีเมธี" ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 4 ราย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ร่วมด้วย นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมกับคณะผู้บริหารและพนักงาน กลุ่ม ปตท. เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ตำบลป่ายุบ ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
เอ่ยถึงความสำเร็จในการผลิตบุคลากรคุณภาพของประเทศของสถาบันฯ สามารถวัดผลออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึกและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยแนวหน้าระดับสากล
ความสำเร็จดังกล่าว ยังทำให้สถาบันฯ ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์การศึกษาที่น่าเชื่อถือระดับสากลอย่าง Nature Index ที่ได้รับอันดับให้สถาบันวิทยาสิริเมธีเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12 ของโลก ในหมวดมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของไทย และอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทางด้านสาขา Chemistry และในภาพรวมของทุกสาขาวิชา (Life Sciences, Physical Sciences, Chemistry และ Earth and Environmental Sciences) สถาบันยังอยู่อันดับที่ 1 ของประเทศไทย
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรผลงานทางวิชาการและงานวิจัยของ "สถาบันวิทยสิริเมธี" ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ งานวิจัยทางด้านระบบปัญญาและหุ่นยนต์ (Al and Robotic) งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน การพัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพภาพสูง (Energy Materials & Environment) และงานวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ อนึ่ง สถาบันวิทยสิริเมธีได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใน กลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมกันสร้างนักวิจัย พัฒนางานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของสถาบันฯ
ต่อมาทรงเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถาบันวิทยสิริเมธี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) พื้นที่ประมาณ 88 ไร่
สำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ เป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ โดยเครื่องกำเนิดแสงที่จะจัดสร้างนี้ มีค่าระดับพลังงาน 3 GeV และใช้เทคโนโลยี Double Triple Bend Achromat (DTBA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แสงซินโครตรอนมีความสว่างจ้ามากกว่าเดิม 1 ล้านเท่า และรองรับระบบลำเลียงแสงได้สูงถึง 22 ระบบ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยได้หลากหลาย จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการวิศวกรรม (Fabrication Center) ซึ่งเป็นห้องทดลองสำหรับนักเรียนในการสืบค้นข้อมูลและพัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ตามแนวคิดของตนเอง
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กราบบังคมทูลรายงาน ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยัง "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญในการพัฒนาภาพลักษณ์ของเกษตรกรไทยยุคใหม่ ให้เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจและยั่งยืน โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และนายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือและแพลตฟอร์ม "สวนสมรม" ที่นำหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการเกษตร
ต่อมาทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนลานใจบ้าน "สถาบันวิทยสิริเมธี" โดยมี นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ และนำเสนอนิทรรศการโครงการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ผลงานของ ปตท.สผ. ร่วมกับพันธมิตร ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ของ ปตท.สผ. นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยี Smart Forest Solution ซึ่งเป็นผลงานของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทฯ ด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในเครือ ปตท.สผ. โดยเป็นเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนบริหารจัดการ พื้นที่สีเขียว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โครงการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนของ ปตท.สผ. ภายใต้แนวคิด "ทะเลเพื่อชีวิต" (Ocean for Life) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศใต้ทะเล