การศึกษาและเศรษฐกิจยุคใหม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

การศึกษาและเศรษฐกิจยุคใหม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงให้เป็นหนึ่งในองค์ปาฐก ในการประชุมสมัชชานานาชาติ Montessori Congress ครั้งที่ 29 เรื่อง "การศึกษาและเศรษฐกิจยุคใหม่: เราจะเตรียมคนรุ่นเราให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างไร" จึงขออนุญาตนำมาแบ่งปัน ดังนี้

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเร็วกว่าที่เคยเป็นมา เทคโนโลยี โลกาภิวัตน์ ระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทาย และโอกาสที่ลูกหลานของเราจะต้องเผชิญในอีกหลายปีข้างหน้า

เพื่อให้พร้อมสำหรับโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ เราต้องเตรียมพวกเขาให้มีทักษะและความคิดที่ถูกต้อง แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงชุดทักษะเหล่านั้น เราสามารถคาดหวังอะไรได้ในทศวรรษหน้า

จากแนวโน้มและการคาดการณ์ในปัจจุบัน ผู้เขียนขอคาดการณ์ภาพเศรษฐกิจและสังคมในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ดังนี้ 

1. เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอย จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ล้มละลาย ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกันทั่วโลก 

2. อัตราเงินเฟ้อสูง หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยสิ้นสุดลง อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงกว่าช่วงก่อนโควิด จาก (1) การเปลี่ยนจากพลังงานดั้งเดิมเป็นพลังงานสะอาดมีค่าใช้จ่ายสูง (2) รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีกเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP และ(3) ธนาคารกลางจะเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อ เนื่องจากไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง จนเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง

3. วินัยทางการคลังทั่วโลกจะถดถอยลง ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสเกิดวิกฤตทางการคลังได้ง่ายขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจะปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP 

4. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกจะรุนแรงขึ้น การเมืองโลกจะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ ความปั่นป่วนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก หลังจากที่สหรัฐฯ ลดบทบาทในฐานะตำรวจโลก ทำให้เกิดสุญญากาศในตำแหน่งผู้นำโลก

 

สถานการณ์เหล่านี้จะยิ่งตึงเครียดมากขึ้นในอนาคต และอาจสร้างโลกหลายขั้ว ทำให้โลกาภิวัตน์ยิ่งเสื่อมลงอีก เงินเฟ้อสูงขึ้นและเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น

การศึกษาและเศรษฐกิจยุคใหม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

5. การเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกจะเปลี่ยนแปลงโลกในหลายด้าน ปัจจุบัน ทั่วโลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 11% ในอีกสามทศวรรษข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยแตะที่ 1.5 พันล้านคน หรือ 21%  

สังคมสูงวัยกำลังกลายเป็นสถานการณ์ใหญ่ในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน รวมถึงเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหลายประเทศเช่นประเทศไทย

6. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  ในปัจจุบัน เป็นไปได้ยากที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตกลงไว้ในข้อตกลงปารีส ที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ทำให้น้ำทะเลที่สูงขึ้น เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและบ่อยขึ้น เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำ และระบบนิเวศเสี่ยงต่อภาวะวิกฤต

7. การปฏิวัติอุตสาหกรรม ผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น  Internet of Thing   AI วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะให้ความหวังในผลผลิตและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็จะนำมาสู่ความท้าทาย เช่น การย้ายงาน ความเป็นส่วนตัว และผลกระทบทางจริยธรรม

และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้ที่รู้เทคโนโลยีกับคนที่ไม่รู้และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ จะทำให้พลาดโอกาสในการทำงานและหายไปจากกำลังแรงงาน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดได้แก่ “Chat GPT” และแชทบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) อื่น ๆ 

เพื่อเตรียมลูกหลานของเราให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายเหล่านั้น ต้องเตรียมทักษะสำหรับโลกหน้า โดยการศึกษาที่รองรับอนาคต จะต้องอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดหลัก 3 ประการที่สมดุล 

แนวคิดที่หนึ่ง ได้แก่ ความก้าวหน้า ความเสมอภาค และความยืดหยุ่น โดยในแนวคิดแรก เราต้องผลักดันเด็ก ๆ ให้เกิด"กรอบความคิดการเติบโต" (Growth Mindset) โดยมุ่งเน้นไปที่ความพยายาม การทำงานหนัก และกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว 

การศึกษาและเศรษฐกิจยุคใหม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

แนวคิดที่สองคือ "ความเสมอภาค" คือการสอนเด็กเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความยุติธรรม การเห็นอกเห็นใจ และความเคารพต่อผู้อื่น 

แนวคิดที่สามคือ “ความยืดหยุ่น ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และความยั่งยืน” การสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับกลุ่มแนวคิดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและความสามารถในการมีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อสังคม เช่น ส่งเสริมทักษะการสื่อสาร ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ฝึกฝนการบริโภคอย่างรับผิดชอบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน

นอกจากนั้น เศรษฐกิจในอนาคตจะแตกต่างอย่างมากจากที่เรารู้ในวันนี้ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังจะสร้างตลาดงานใหม่ และทำให้ทักษะบางอย่างล้าสมัย

เราจึงต้องเปลี่ยนปฏิวัติรูปแบบการศึกษาใหม่และเตรียมตัวเองให้พร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และกรอบความคิดที่จำเป็นต่อการปรับตัว สร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายต่อเศรษฐกิจยุคใหม่

ในขณะที่เรากำหนดรูปแบบการศึกษาสำหรับเศรษฐกิจยุคหน้า เราต้องรับประกันว่าทุกคนมีส่วนร่วมและเท่าเทียมกัน ประโยชน์ของการศึกษาต้องสามารถเข้าถึงได้ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม เชื้อชาติ เพศ หรือภูมิศาสตร์ ด้วยการขจัดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกัน

เราสามารถปลดล็อกศักยภาพของทุกคน และใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนที่มีความสามารถหลากหลาย ซึ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและความก้าวหน้า

โดยสรุป เศรษฐกิจยุคหน้าเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการศึกษา เราต้องให้อำนาจแก่บุคคลด้วยความรู้ ทักษะ และกรอบความคิดในการปรับตัว สร้างนวัตกรรม และมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนา 

โดยเน้นการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน การสร้างความรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ความฉลาดทางสังคมและอารมณ์ (social and emotional intelligence) และความเสมอภาค เราสามารถกำหนดรูปแบบระบบการศึกษาที่เตรียมเราให้พร้อมสำหรับความท้าทายและโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า

เราต้องยอมรับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจว่าการศึกษาจะสามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกหลานของเรา ที่กำลังจะเข้าไปสู่อนาคตที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และอึมครึม ไปสู่ฉากทัศน์แห่งอนาคตที่รุ่งเรือง เสมอภาค เท่าเทียม และยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

โลกในยุคอนาคตจะเป็นอย่างไร ลูกหลานจะก้าวต่อไปได้หรือไม่ อยู่ที่สมอง สายตา และสองมือของคนรุ่นเรา.