Checklist!! เตือนใจ 'เด็กรุ่นใหม่ GenZ' รู้เท่าทันสื่อ
การเติบโตขึ้นมาในยุคดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ คน GenZสามารถเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ
KEY
POINTS
- เด็กและเยาวชนไทย หรือเด็กGenZใช้เวลาท่องโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นถึงวันละ 3-10 ชั่วโมง/วัน อาจทำให้ มีพฤติกรรมติดอินเทอร์เน็ตและส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- “ความฉลาดทางดิจิทัล” Digital Intelligence Quotient (DQ) คือ กลุ่มความสามารถทางสังคม อารมณ์และการรับรู้ ที่ทำให้บุคคลสามารถเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัล
- แนวทางการรู้เท่าทันสื่อ ต้องช่วยเพิ่มพูนปัญญาให้สามารถรู้คิด รู้เท่าทันสถานการณ์บริบทของสังคม โดยต้องรู้จักการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) การคิดสังเคราะห์ (Synthesis Thinking) และการคิดวิพากษ์ (Critical Thinking)
การเติบโตขึ้นมาในยุคดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ คน GenZสามารถเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตราย ผิดกฎหมาย ถูกล่อลวงให้พูดคุยเรื่องที่ไม่เหมาะสม หรืออาจโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์
จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ในปี พ.ศ. 2565 พบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็น ของตัวเอง มีอินเทอร์เน็ตและ Wi-Fi ใช้งานที่บ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่นำไปสู่ภาวะการเสพติดอินเทอร์เน็ตหรือเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มขึ้น
ความพร้อมในการเข้าถึงโลกออนไลน์ดังกล่าวทำให้เด็กและเยาวชนไทย หรือเด็กGenZใช้เวลาท่องโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นถึงวันละ 3-10 ชั่วโมง/วัน อาจทำให้ มีพฤติกรรมติดอินเทอร์เน็ตและส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย ปัญหาที่พบ ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่ถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์ เช่น หลอกให้รัก ขอภาพลับ และถูกล่วงละเมิดทางเพศเข้าข่ายเป็น “พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Child Grooming)”จนนำไปสู่ความเครียด เกิดภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สภาการสื่อมวลชน พร้อมภาคีสมาชิกสื่อ 11 ฉบับ KICK OFF โครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็ก
70 ปี วารศาสตร์ มธ. ขับเคลื่อนภาคประชาชน รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล
Gen Y -Gen Z ช่วงวัยที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด
ประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายรองรับในประเด็น Child grooming จึงเป็นประเด็น ที่ผู้ปกครองและผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อยุติกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัลนี้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอัตราส่วน การใช้อินเทอร์เน็ตติดอันดับที่ 34 ของโลก คิดเป็นจำนวนผู้ใช้งาน มากกว่า 54 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน โดย ช่วงวัย ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ Gen Y (อายุ 22–41 ปี) ในขณะที่ GenZ (อายุน้อยกว่า 22 ปี) ซึ่งเคยเป็นช่วงวัยที่ใช้อินเทอร์เน็ต มากที่สุดในปีพ.ศ. 2564 กลับมีสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า Gen Y ในปีพ.ศ. 2565
สำหรับ “กิจกรรม” ที่มีการเข้าใช้งานสูงสุด 5 อันดับแรก
- อันดับ 1 ค้นหาข้อมูล (64.69%)
- อันดับ 2 ติดตามข้อมูลข่าวสาร (58.1%)
- อันดับ 3 ดูหนัง รายการ วิดีโอ (54.8%)
- อันดับ 4 ค้นหาไอเดียใหม่ ๆ (54.4%)
- อันดับ 5 ค้นหาHow To (50.6%)
Social Media ที่คนไทย “นิยม” ใช้งานมากที่สุด 5 อันดับแรก
- อันดับ 1 Facebook (91%)
- อันดับ 2 LINE (90.7%)
- อันดับ 3 Facebook Messenger (80.8%)
- อันดับ 4 TikTok (78.2%)
- อันดับ 5 Instagram (66.4%)
เติมทักษะ DQ รู้เท่าทันสื่อ รับมือภัยออนไลน์
นอกจากนั้น จากภาวะการฟื้นตัวภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่า “เด็กบางกลุ่มสามารถปรับตัวไปได้เร็วและบางกลุ่มปรับตัวได้ช้า” โดยกลุ่มที่มีการปรับตัวและเรียนรู้ได้เร็วนั้น เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในเรื่องการเรียนออนไลน์ทั้งด้านอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต พ่อแม่ผู้ปกครองให้การสนับสนุน และครูมีศักยภาพ สามารถปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ได้
ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีความพร้อม ฐานะยากจน ไม่มีอุปกรณ์สนับสนุนที่เพียงพอ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น ผู้ปกครองตกงาน ขาดรายได้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิด ทำให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นเด็กกำพร้าและได้รับผลกระทบในระยะยาวอย่างรุนแรง
ในการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้ใหญ่นั้น แรงงานไทยสามารถ ปรับตัวทางด้านดิจิทัลได้ดีส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างพื้นฐานของไทย ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความครอบคลุมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ความพร้อมด้านแรงงานอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร สะท้อนได้จาก แรงงานที่ใช้ทักษะด้านดิจิทัลเพื่อการทำงานได้ ยังมีสัดส่วนน้อย เพิ่มขึ้นช้า และกระจุกตัว รวมถึงผลการจัดอันดับความสามารถ ในการแข่งขันด้านดิจิทัล
โดยเฉพาะด้านการฝึกอบรมและการศึกษา ของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 แม้ว่าความต้องการ ด้านแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ความพร้อม ของแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลไม่ได้ตอบสนองได้เท่าทันตามความ ต้องการอาจทำให้เห็น DigitalSkill Mismatch(ภาวะขาดทักษะด้าน ดิจิทัล) ในอนาคตรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย
ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยประจำปี พ.ศ. 2566 (World Digital Competitiveness Ranking 2023) จัดอยู่ในอันดับที่ 35 จก 64 ประเทศ โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนา ให้อยู่ใน 30 อันดับแรกภายในปีพ.ศ. 2569 และก้าวสู่อันดับ 1 ในอาเซียนต่อไปในอนาคต จากการจัดอันดับของสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) โดยวัดจากความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล 3 ด้าน คือ ด้านองค์ความรู้(Knowledge) เทคโนโลยี(Technology)และความพร้อม สำหรับอนาคต (Future Readiness)
“ความฉลาดทางดิจิทัล” เป็นหนึ่งในคุณลักษณะ ของผู้เรียนด้านผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา คุณภาพผู้เรียน คือ “ครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา” นับเป็นหัวใจ สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับผู้เรียน ด้วยความสำคัญดังกล่าว
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการ ส่งเสริมครูอาจารย์เพื่อพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่: การพัฒนา ความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียนทุก ช่วงวัย เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในมิติ ต่างๆและเปิดโอกาสให้ครูอาจารย์ในทุกระดับ และประเภทการศึกษาได้ร่วมกิจกรรมต้นแบบที่จะเป็นตัวอย่าง การพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียนทุกช่วงวัยในการขับเคลื่อน พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและยกระดับการจัดการศึกษาให้เกิดผลเป็น รูปธรรม นำพาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงด้วยการ สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันในโลกอนาคต
ความฉลาดทางดิจิทัล คืออะไร ?
“ความฉลาดทางดิจิทัล” Digital Intelligence Quotient (DQ) คือ กลุ่มของความสามารถทางสังคม อารมณ์และการรับรู้ ที่จะทำให้บุคคลสามารถเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินชีวิต ในยุคดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมดิจิทัลได้อย่าง มีความสุข ความฉลาดทางดิจิทัลจะครอบคลุมทั้งด้านความรู้ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตด้วย
DQ Framework มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างความฉลาดทางดิจิทัลในตัวบุคคล” ความฉลาดทางดิจิทัลเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และเมื่อเรียนรู้แล้วจะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการ ใช้เทคโนโลยี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยี ทั้งในชีวิตส่วนตัว และการทำงานด้วยเช่นกัน
DQ Framework แบ่งโครงสร้างของความฉลาดทางดิจิทัล ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่“สาขา” หรือ“ด้าน”และ“ระดับ” โดยแบ่ง สมรรถนะของบุคคลเป็น 8 ด้าน ได้แก่
- ตัวตนดิจิทัล(Digital Identity)
- การใช้งานดิจิทัล(Digital Use)
- ความปลอดภัยดิจิทัล(Digital Safety)
- ความมั่นคงดิจิทัล(DigitalSecurity)
- ความฉลาดทางอารมณ์ดิจิทัล(Digital Emotional Intelligence)
- การสื่อสารดิจิทัล(Digital Communication)
- การรู้ดิจิทัล (Digital Literacy)
- สิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
การรู้สื่อ (Media Literacy) ปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการรับข้อมูลข่าวสาร ผู้คนสามารถสร้างเนื้อหาต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ (User Generated Content: UGC) ดังนั้นมาตรการการกำกับดูแลเนื้อหาต่าง ๆ ให้มี ความเหมาะสมต่อผู้ใช้งานจึงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา ดังกล่าวได้คือ “การสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เสพสื่อ” โดยการเสริมสร้าง ให้ทุกคนมี“ความรู้เท่าทันสื่อ” สามารถวิเคราะห์และประเมินข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการรู้เท่าทันสื่อ ที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมี
โดยแนวทางการรู้เท่าทันสื่อ ต้องอาศัยการพัฒนาทักษะการคิดในหลายด้าน เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มพูนปัญญาให้สามารถรู้คิด รู้เท่าทันสถานการณ์บริบทของสังคม รวมถึงเพื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและสังคมให้เป็นไปในทางที่ดี
- การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
เพื่อการจำแนกองค์ประกอบของเรื่องราว-เหตุการณ์ พร้อมอธิบายความสัมพันธ์และผลกระทบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปหรือคำตอบที่เหมาะสม
- การคิดสังเคราะห์ (Synthesis Thinking)
โดยการนำเอาองค์ประกอบต่าง ๆ มาประมวลเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างข้อมูล ความรู้ และแนวคิดขึ้นใหม่
- การคิดวิพากษ์ (Critical Thinking)
ผ่านการนำเอาข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อสนับสนุน และข้อโต้แย้งที่รอบด้าน มาใช้พิจารณาไตร่ตรองและประเมินอย่างรอบคอบ
รู้เท่าทันสื่อ โดยผู้รับสารจำเป็นต้องตระหนักว่า
- ใครสร้างเนื้อหาสื่อนี้ขึ้นมา
- ใช้วิธีการใดบ้างในการสร้างสื่อ
- แต่ละคนรับรู้เนื้อหาสื่อต่างกันเพราะอะไร อย่างไร
- มีเนื้อหาในสื่อที่ซ่อนและปลูกฝังค่านิยมบางอย่างไว้หรือไม่
- สื่อผลิตเนื้อหานี้ส่งมาให้เราเพื่ออะไร
ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการรู้เท่าทันสื่อ และการที่ผู้รับสารจะใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้นั้น ผู้รับสารจำเป็นต้องประเมินสื่อได้ด้วยตนเองเพราะการรู้เท่าทันตนเองรู้เท่าทันสื่อจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเรียนรู้ของมนุษย์ไว้ 4 ประการ ดังนี้ 1. Learn to Know เรียนเพื่อให้มีความรู้ 2. Learn to Do เรียนเพื่อที่จะทำเป็น 3. Learn to live with the others เรียนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ 4. Learn to Be เรียนเพื่อ รู้จักตนเอง