รู้จัก คน 8 ประเภท ‘ชวนปวดหัว’ ที่พบเจอบ่อยในที่ทำงาน
ทำความรู้จักคน 8 ประเภทที่ยากต่อการรับมือและมักพบเจอบ่อยในที่ทำงาน พร้อมเรียนรู้วิธีสังเกตที่เชื่อถือได้จากนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เวลากว่า 1 ใน 3 ของแต่ละวันชีวิตมนุษย์วัยทำงานใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมที่ทำงานนั้น ย่อมต้องมีบุคคลที่มีนิสัยแตกต่างกันออกไปปะปนอยู่ร่วมกัน รวมถึงคนที่จะทำให้ประสาทเสียรายวันแฝงตัวอยู่เสมอ
ยิ่งในสังคมแห่งการทำงานที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันด้วย หรือบางทีคนเหล่านั้นก็เป็นหัวหน้าของคุณ ทำให้คุณต้องยิ้มแห้งทุกครั้งเมื่อต้องพบปะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในใจอยากจะเข้าไปเขย่าตัวและตะโกนใส่หน้าเขาก็ตาม
ก่อนที่จะหาทางรับมือกับเพื่อนร่วมงานตัวป่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะต้องรู้ก่อนว่า กำลังเผชิญหน้าอยู่กับคนประเภทใด โดย เอมี กัลโล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แบ่งประเภทคนที่ยากต่อการรับมือในที่ทำงานไว้ 8 ประเภท ดังนี้
1. ไม่พอใจ แต่ไม่พูดตรง ๆ (Passive-Aggressive)
คนกลุ่มนี้คือ คนประเภทที่เมื่อไม่พอใจอะไรบางอย่าง แต่ไม่ยอมพูดออกมาตรง ๆ กลับเลือกที่จะใช้วิธีแบบอ้อม ๆ เพื่อแสดงให้รู้ว่าพวกเขาไม่พอใจ เช่น พูดจาประชดประชัน กระแนะกระแหน เหน็บแนม แขวะ แซะ หรือแม้แต่การตอบกลับมาด้วยประโยคสุดคลาสสิกอย่าง “อ๋อ ไม่ได้เป็นอะไรจ้า” แต่ตาแข็งสุด แม้จะมองจากหน้าออฟฟิศมาก็รับรู้ได้ถึงความไม่พอใจที่แผ่ขยายออกมา จนเราได้แต่ขมวดคิ้วว่ามีอะไรทำไมไม่พูดออกมา
กัลโลกล่าวว่า คนประเภทนี้เป็นกลุ่มคนที่แย่ที่สุดในทั้งหมด และยังพบได้บ่อยที่สุดด้วย
หนังสือ The Angry Smile: The Psychology of Passive-Aggressive Behaviour in Families, School, and Workplaces ซึ่งเขียนโดย โจดี อี ลอง, นิโคลัส เจ ลอง และซิกนี วิตสันระบุว่า พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจาก การไม่กล้าเผชิญหน้าความขัดแย้งของมนุษย์ จึงทำให้เลือกข่มความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอาไว้ แล้วแสดงออกด้วยพฤติกรรม (ที่หวังว่า) จะลดความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์เลวร้ายลง แม้ว่าบางครั้งผลลัพธ์ก็ออกมาแย่อยู่ดีก็ตาม
2. จ้องจับผิด (The Insecure Boss)
หัวหน้าของคนเป็นจู้จี้ไม่หยุดไม่หย่อน จนทำให้คุณแทบจะเป็นบ้าหรือไม่ ถ้าใช่ หัวหน้าของคุณอาจจะอยู่ในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ พวกเขาอาจเป็นพวกสอดรู้สอดเห็น เข้ามาก้าวก่าย และตั้งคำถามในทุกการกระทำของคุณ แถมวันดีคืนดีอาจจะขุดข้อผิดพลาดในอดีตมาทำร้ายกันอีก อีกทั้งอาจจงใจทำร้ายหน้าที่การงานของคุณหากพวกเขามองว่าคุณเป็นภัยคุกคาม
3. พวกมองโลกในแง่ร้าย (The Pessimist)
อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราจะมองโลกตามความเป็นจริง ไม่ได้มองทุกอย่างในแง่ดี ใส่ฟิลเตอร์เดินเล่นในทุ่งดอกลาเวนเดอร์ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ไว้ก่อน เพื่อหาทางรับมือให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่ามองทุกอย่างแต่ด้านลบ จนทุกอย่างดูแย่ไปหมด นั่นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ได้ คิดแต่เรื่องความผิดพลาดตลอดเวลา ไม่สามารถพูดเรื่องราวดี ๆ ออกมาได้เลย แถมแผ่รังสีความหดหู่ และการคิดลบออกมาจนทำให้เสียบรรยากาศไปอีก
4. รับบทเหยื่อ (The Victim)
เมื่อเกิดเหตุการณ์แย่ ๆ เกิดขึ้นกับคนประเภทนี้ เขาพร้อมที่จะโทษคนอื่น ปัจจัยแวดล้อม หรือความโชคร้ายทันที โดยไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดของตัวเอง ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูน่าสงสาร เป็น “เหยื่อ” ในสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ แม้ว่าแท้จริงแล้วเขาเหล่านั้นอาจจะเป็น “งูพิษ” ผู้กระทำที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้คนเห็นใจก็ตาม
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว ระบุว่า บุคคลประเภทนี้ เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ มีความคิดในแง่ลบ ไม่สามารถจัดการหรือควบคุมกับสถานการณ์หรือชีวิตของตัวเองได้ และคิดว่าคนอื่นควรที่จะต้องเห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา มีความกลัวและหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองและคนอื่น
5. อับดุลเอ๊ย (The Know-It-All)
เป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นอกมั่นใจ ใครพูดอะไรมาไม่ว่าจะเรื่องไหนก็พร้อมตอบได้ รู้ไปหมดทุกเรื่องยิ่งกว่าอับดุล ที่จริงก็ดูเป็นคนมีความรู้ น่าจะเป็นคนคุยสนุก แต่กลายเป็นว่าคนเหล่านี้มักจะโผล่พรวดปรากฏตัวขึ้นมาระหว่างการสนทนาของเราเสียนี่ ซึ่งทำให้บรรยากาศในวงสนทนาของเรานั้นเปลี่ยนไป ทำได้แต่ยิ้มเจื่อน ปล่อยให้เขาเจื้อยแจ้วไปเรื่อย และยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เหล่าอับดุลเอามาพูดนั้นกลับเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเสียอีก
6. มองทุกคนเป็นก้างขวางคอ (Tormentor)
คนกลุ่มนี้มักเป็นพนักงานอาวุโสที่ทำงานมานาน แต่ยังไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเสียที ซึ่งมักจะมาตีสนิทกับพนักงานใหม่ ๆ ทำทีเป็นสอนงาน เป็นพี่ใหญ่ใจดี แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะสกัดดาวรุ่งคุณอยู่ตลอด เพราะมองคุณเป็นเสี้ยนหนาม ตัวขัดขวางการเลื่อนตำแหน่ง ที่เป็นความหวังอันสูงสุดในชีวิตการทำงานของพวกเขา
7. เลือกที่รักมักที่ชัง (The Biased)
พื้นฐานของคนเรามักจะมีสเปกหรือคนในอุดมคติอยู่แล้ว เมื่อเราเจอคนในฝัน เราย่อมจะต้องทำดีด้วย แต่ก็ไม่ควรใช้กับที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นหัวหน้าที่ปฏิบัติต่อลูกน้องไม่เท่าเทียม มีตำแหน่ง “ลูกรัก” งอกขึ้นมา ทำให้สามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างรวดเร็ว แต่กับอีกคนทำงานหนักแทบตาย สุดท้ายก็ยังอยู่ที่เดิม แถมถูกละเลยไม่ได้รับโอกาส เป็น “ลูกชัง” นอกสายตาของหัวหน้าตั้งไกล เผลอ ๆ หากลูกชังไปมีเรื่องกับลูกรักด้วยแล้ว ลูกชังอาจถูกเชิญออกจากบริษัทไปอย่างง่ายดาย
8. การเมืองในที่ทำงาน (The Political Operator)
ในองค์กรใหญ่ ๆ มักจะมีปัญหา “การเมืองในที่ทำงาน” แทบทั้งนั้น ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองนั้น ทั้งที่เราเองก็ไม่ได้อยากจะเข้าไปยุ่งสักเท่าไร เพราะมีแต่จะทำให้เสียบรรยากาศในการทำงาน เสียสุขภาพจิต แค่ทำงานก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ยังต้องมาคอยระวังเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถูกขโมยเครดิตผลงาน ซุบซิบนินทา สรรเสริญเยินยอ จากฝ่ายตรงข้ามอีก
HR NOTE เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรบุคคล ได้สรุปถึงสาเหตุของการเกิดการเมืองในที่ทำงานว่า มาจากการนำเอาอารมณ์ส่วนตัว ความต้องการ ความทะเยอทะยาน ความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคงในการทำงาน และทุกคนล้วนอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานกันทั้งนั้น แต่องค์กรไม่ได้มีความสำเร็จเพียงพอให้สำหรับทุกคน ดังนั้น จึงต้องอาศัยการเห็นด้วยกับคนที่มีอิทธิพลในองค์กรเพื่อทำให้เข้าใกล้ความสำเร็จนี้ได้
ลองสังเกตคนรอบตัวในที่ทำงานว่ามีเข้าข่ายบุคคลเหล่านี้บ้างหรือไม่ และเราจะรับมือกับคนเหล่านี้อย่างไร หรือจะย้ายไปทำงานในที่อื่น ๆ ซึ่งก็อาจจะเจอกับเพื่อนร่วมงานใหม่ที่มีลักษณะนี้ก็ได้เช่นกัน หรือบางที อาจลองสำรวจตัวเราเองว่า เป็นตัวป่วนของบริษัทในสายตาของคนอื่นด้วยหรือเปล่า?
ที่มา: Business News Daily, CNBC, Harvard Business Review, iStrong, The Matter,