การงานได้ใจคนยุคดิจิทัล | บวร ปภัสราทร

การงานได้ใจคนยุคดิจิทัล | บวร ปภัสราทร

การงานจะก้าวหน้าไปได้นั้น ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการมีคนที่มาช่วยทำงานในจำนวนที่เพียงพอ และเก่งพอที่จะขับเคลื่อนการงานไปตามกลยุทธ์ที่กำหนดนั้น จนบรรลุเส้นชัยที่คาดหวังได้

กลยุทธ์ที่ดีแต่ไร้คนมีฝีมือมาช่วยขับเคลื่อน เป็นได้แค่การขายฝัน ยิ่งในยุคดิจิทัล การสรรหากลยุทธ์ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจทำได้ไม่ยาก จากการที่มีตัวอย่างหลากหลายให้ดูจากอินเทอร์เน็ต วันนี้ใคร ๆก็ขายฝันด้วยกลยุทธ์ที่น่าตื่นเต้นได้

ไม่ง่ายนักที่จะที่ให้มีคนมาช่วยทำให้กลยุทธ์ที่สรรสร้างไว้นั้นกลายเป็นความจริง คนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลผูกพันกับการงานยากกว่าคนรุ่นก่อน ที่หวังจะเห็นคนมาสมัครงานแล้วผูกพันทำงานด้วยกันอยู่จนกระทั่งเกษียณอายุ คงหวังไม่ค่อยจะได้แล้วสำหรับคนเก่งจริงมีฝีมือ

จะมีบ้างก็น้อยเต็มที หรือไม่ก็อ่อนด้อยฝีมือจนไปไหนไม่ได้ ระวังไว้เลยในยุคนี้ว่าคนเก่งผูกผันน้อย คนด้อยผูกพันเยอะ ระวังจะกลายเป็นแหล่งสะสมคนด้อยฝีมือได้ง่าย ๆ

จากการศึกษาของบริษัท McKinsey เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ถ้าจำแนกความผูกพันกับการงานออกเป็นสี่ระยะ คือ ระยะการยอมรับงาน ระยะการตั้งใจจะยังอยู่กับงาน ระยะการตั้งใจจะหางานใหม่ และระยะการลาออกจากงานที่ทำอยู่

จะมีปัจจัยแห่งความผูกพันที่ต้องใส่ใจอยู่ห้าเรื่อง ได้แก่ การพัฒนาและโอกาสในความก้าวหน้า ผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ สภาพการทำงานที่ยืดหยุ่น ผลกระทบในทางบวกของงานที่ทำ และการดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ปัจจัยเหล่านี้มีผลสำคัญกับการได้ใจคนทำงานในยุคดิจิทัล

การงานได้ใจคนยุคดิจิทัล | บวร ปภัสราทร

การพัฒนาและโอกาสในความก้าวหน้า เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญตั้งแต่การตัดสินเข้ามาทำงาน จนกระทั่งถึงการลาออกจากงาน ตราบเท่าที่งานที่ทำยังเปิดโอกาสให้เขาได้พัฒนา

งานที่ทำยังทำให้เขาเชื่อว่าการงานวันหน้ายังมีอนาคต การงานดี มีอนาคตดูเหมือนจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจของคนยุคดิจิทัลไว้ได้เป็นอย่างดี  ในขณะที่ผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผูกพันในระดับที่ใกล้เคียงกัน

การงานดี ปากท้องดี มีอนาคตจึงได้ใจคนยุคดิจิทัลอย่างแรง จากการผนวกเอาปัจจัยแห่งความผูกพันสำคัญสองตัวเข้าด้วยกัน  ในทางตรงข้ามถ้าไปเน้นแต่เพียงว่าการงานเดิม ปากท้องดีมาก แต่ปราศจากอนาคต คนรุ่นใหม่ก็ไม่เอาด้วยแน่ๆ

สตางค์เยอะใครก็อยากได้ แต่ถ้าสตางค์เยอะวันนี้ โดยไม่มีอนาคตในวันหน้า ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ที่คนยุคดิจิทัลต้องการ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลรองลงมาคือ การงานที่ยืดหยุ่น กฎกติกาในการทำงานที่ไม่ยึดแน่นตามตัวอักษร แต่เน้นไปที่เจตนารมณ์เป็นสำคัญ ดูเหมือนว่าจะได้ใจคนยุคดิจิทัล

ผู้บริหารที่ยึดตัวอักษรในกฎกติกาเป็นสรณะ จนกระทั่งการงานเดินตามตัวหนังสือมากกว่าวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่คนยุคดิจิทัลใช้ตัดสินในปฏิเสธไม่รับงาน หรือหากเข้าทำงานไปแล้วก็จะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะอยู่ทำงานต่อไปอีกหรือไม่

ระวังไว้ด้วยว่า ภาพลักษณ์ของการเป็นองค์กรที่มากด้วยกฎระเบียบ จะไม่ดึงดูดคนเก่งในยุคดิจิทัล

การงานได้ใจคนยุคดิจิทัล | บวร ปภัสราทร

การงานที่ทำแล้วมีผลกระทบในทางบวกต่อวงการอาชีพ หรือสังคม เป็นการงานที่มีความหมาย ทำแล้วอย่างน้อยก็ภูมิใจได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการได้สร้างอะไรดี ๆขึ้นมาสักอย่าง   มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาทำงาน และคงอยู่กับงานนั้น

แต่หากวันหน้าการงานเริ่มมีความหมายน้อยลงกว่าตอนเริ่มต้น จะส่งผลต่อการคิดจะเปลี่ยนงาน หรือลาออกน้อยกว่าการตัดสินใจเข้าทำงาน ถ้าสามารถทำให้เขาเชื่อว่างานนั้นมีความหมาย เขาจะยอมเข้ามาทำงานด้วย และมีโอกาสสูงที่จะไม่เปลี่ยนใจ

แม้ว่าการงานจะลดบทบาทความสำคัญลงไปบ้างในอนาคตก็ตาม ในทำนองว่ามาทำงานกับเราแล้วจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน

การดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ แทบไม่มีผลในตอนสมัครเข้าทำงาน แต่มีผลไม่น้อยในการตัดสินใจหางานใหม่ หรือลาออกจากงาน ดังนั้นหากวันใดการงานเริ่มท้าทายสุขภาพ และคุณภาพชีวิต โอกาสที่จะเปลี่ยนงานจะตามมาทันที

ได้ตัวคนที่เหมาะสมมาช่วยงานแล้ว ถ้าอยากมั่นใจว่าจะอยู่ช่วยกันต่อไป อย่าลืมดูแลให้ได้ใจมาพร้อมกันด้วย

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]