วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ bivalent ไทยยังไม่ต้องนำเข้ามาใช้

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ bivalent ไทยยังไม่ต้องนำเข้ามาใช้

ช่วงที่จีนเปิดประเทศ มีนักวิชาการเสนอให้มีการนำวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ หรือ bivalent เข้ามาใช้ฉีดให้กับคนไทย เพื่อป้องกันการติดโควิด-19 แต่ ณ ตอนนี้ วัคซีนดังกล่าวไทยยังไม่นำเข้ามา ด้วยมีงานวิจัยออกมาสนับสนุน ผลที่ไม่แตกต่างกันนัก

สถานการณ์โควิด-19ในไทย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ที่ 1 ปี 2566 วันที่ 1-7 มกราคม 2566

  • พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 997 ราย (เฉลี่ย 142 ราย/วัน)
  • เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (สัปดาห์ที่ 52/2565) มีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงถึง 53%
  • เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 382 ราย ลดลง 28%
  • ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 247 ราย ลดลง 30%
  • ผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิต 58 ราย (เฉลี่ย 8 คน/วัน)
  • ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 มากถึง 57 ราย

 

ปัจจัยหลักการเสียชีวิตมาจาก

  • การไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว 32 ราย
  •  ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแต่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 16 ราย
  •  ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 เดือน 10 ราย
    ในจำนวนนี้จะสังเกตุว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วง 3 เดือนก่อนป่วย ไม่พบการเสียชีวิตเลย วัคซีนมีส่วนช่วยในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน

ขอแนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตหากติดเชื้อ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

สายพันธุ์โควิด-19

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  การรายงงานการเฝ้าระวัง สายพันธุ์โควิด-19 เมื่อ 6 ม.ค.2566  สายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลาน ของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่เร็ว ใกล้เคียงกับ XBB.1.5 ที่พบในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 

XBB.1.5 มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูสีกับ BA.2.75 ในไทย แต่มีความเหนือกว่าเล็กน้อยในเรื่องของการหลบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชมากกว่ากัน ไม่มีความแตกต่างในแง่ของความรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตเร็วขึ้น”นพ.ศุภกิจกล่าว

 

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ คือ

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ (bivalent) เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และ BA.4/BA.5 เป็นของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา(FDA)สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค.2565

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ ของไฟเซอร์ ใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ส่วนของโมเดอร์นาใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถฉีดเป็นเข็มกระตุ้นได้ตั้งแต่ 2 เดือนหลังฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย

 

วัคซีนไล่ไม่ทันโควิดกลายพันธุ์

จะเห็นได้ว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสนั้นเกิดขึ้นทุกวัน จนมีสายพันธุ์โอมิครอนย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ดื้อต่อวัคซีน และแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นและน้อยลง แต่ในแง่ของการก่อโรครุนแรงขึ้นนั้นยังไม่มีรายงาน ขณะที่การศึกษาพัฒนาวัคซีนนั้นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร อาจจะไม่ทันต่อการกลายพันธุ์

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ ส่วนผสมของสายพันธุ์ดั้งเดิมและ BA.4/BA.5 ขณะที่ปัจจุบันไวรัสที่แพร่มากในสหรัฐอเมริกาตอนนี้เป็น XBB และในไทยเป็น BA.2.75

ศ.เกียรติคุณ นพ.ยง ภู่ วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนี้มีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนขึ้นมาก ว่าวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ไม่ได้ดีไปกว่าวัคซีนเดิมเท่าไหร่ (The New England Journal of Medicine, January 12, 2023) วัคซีนจะยังไปกระตุ้นสายพันธุ์ดั้งเดิม ระดับภูมิต้านทานเมื่อเปรียบเทียบกับ วัคซีน mRNA ชนิดเดิมในเข็มกระตุ้น กับ 2 สายพันธุ์ จึงไม่ได้แตกต่างกันมาก

การศึกษาประสิทธิภาพของ วัคซีนเข็มกระตุ้น 2 สายพันธุ์ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดกระตุ้น (ในอเมริกาตอนนี้ไม่มีวัคซีน mRNA ชนิดสายพันธุ์เดียวแล้ว) พบว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน 2 สายพันธุ์กระตุ้น ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 30 - 40+% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น (MMWR) ประสิทธิภาพจะลดลงตามระยะเวลา ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยง จะไม่รอวัคซีน 2 สายพันธุ์ ถ้าถึงเวลาที่ต้องกระตุ้นสามารถกระตุ้นได้เลย

 

ไทยยังไม่นำเข้าวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับข้อมูลคำแนะนำทางการแพทย์และวิชาการว่า วัคซีนโควิดของเดิม กับของใหม่ที่เป็น วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ ผลในการใช้เป็นเข็มกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน จึงยังไม่ต้องพิจารณานำเข้ามาใช้เป็นเข็มกระตุ้นในประเทศไทยตอนนี้ อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลวิชาการพบว่ามีความจำเป็นต้องนำเข้ามาใช้ จะไม่ติดขัดที่ตนอย่างแน่นอน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม รวมถึงวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ด้วย เนื่องจากมีผลการศึกษาในต่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่อง สรุปตรงกันว่าภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัส(Neutralizing Antibody) ไม่แตกต่างจากวัคซีนรุ่นเดิมที่เป็น 1 สายพันธุ์  ดังนั้น ประเทศไทยสามารถใช้วัคซีน 1 สายพันธุ์ที่มีการสั่งซื้อก่อนหน้านี้ในการฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในการเพิ่มภูมิคุ้มกันได้

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ bivalent ไทยยังไม่ต้องนำเข้ามาใช้

 

ผลศึกษา bivalent กระตุ้นไม่ต่างวัคซีนเดิม

ทั้งนี้ การศึกษา 2 ชิ้นในสหรัฐอเมริกา สรุปตรงกันว่าการได้รับเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน 1 สายพันธุ์ (Monovalent vaccine) กับวัคซีน 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccines) กระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่ต่างกัน

1. การศึกษาชิ้นแรก  เรื่อง  Antibody Response to Omicron BA.4–BA.5 Bivalent Booster นำเสนอในวารสาร The NEW ENGLAND JOURNAL of MEDICINE

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566  พบว่า  ภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัส (Neutralizing Antibody)

ต่อสายพันธุ์BA.1 ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 1 สายพันธุ์ (monovalent) 4 โดส อยู่ที่ 2340 ไตเตอร์

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์ 3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นที่ 4 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (bivalent) อยู่ที่ 2133 ไตเตอร์

ต่อสายพันธุ์BA.2 ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 1 สายพันธุ์ (monovalent) 4 โดส อยู่ที่ 2956 ไตเตอร์

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์ 3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นที่ 4 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (bivalent) อยู่ที่ 2534 ไตเตอร์

ต่อสายพันธุ์BA.4หรือBA.5  ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 1 สายพันธุ์ (monovalent) 4 โดส อยู่ที่ 1366ไตเตอร์

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์ 3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นที่ 4 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (bivalent) อยู่ที่ 1649 ไตเตอร์

ต่อสายพันธุ์BA.4.6 ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 1 สายพันธุ์ (monovalent) 4 โดส อยู่ที่ 1003 ไตเตอร์

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์ 3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นที่ 4 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (bivalent) อยู่ที่ 1142 ไตเตอร์

ต่อสายพันธุ์BA.2.75 ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 1 สายพันธุ์ (monovalent) 4 โดส อยู่ที่ 1628 ไตเตอร์

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์ 3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นที่ 4 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (bivalent) อยู่ที่ 1385 ไตเตอร์

ต่อสายพันธุ์BA.2.75.2 ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 1 สายพันธุ์ (monovalent) 4 โดส อยู่ที่ 274 ไตเตอร์

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์ 3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นที่ 4 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (bivalent) อยู่ที่ 345 ไตเตอร์

วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ bivalent ไทยยังไม่ต้องนำเข้ามาใช้

 

2. การศึกษาชั้นที่ 2  เรื่อง  Bivalent Covid-19 Vaccines — A Cautionary Taleนำเสนอในวารสาร The NEW ENGLAND JOURNAL of MEDICINE เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566  ระบุส่วนหนึ่งว่า

เมื่อ 24 ต.ค.2565 เดวิด โฮและเพื่อนร่วมงาน มีการเผยแพร่ผลการศึกษาที่ตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัส BA.4 และ BA.5 หลังจากได้รับเข็มกระตึ้นด้วยวัคซีน 1 สายพันธุ์ หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ พบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

และ 1 วันต่อมา Dan Barouch และเพื่อนร่วมงาน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่คล้ายกัน โดยพบว่าภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัส BA.5 หลังได้รับวัคซีน 1 สายพันธุ์และ 2 สายพันธุ์ ไม่มีความแตกต่าง  ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไม่พบว่า การกระตุ้นด้วยวัคซีน 2 สายพันธุ์ กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่เหนือกว่า

 

การศึกษานี้ สรุปว่า แม้การให้วัคซีนกระตุ้นด้วยวัคซีน 2 สายพันธุ์น่าจะให้ผลคล้ายกับการกระตุ้นด้วยวัคซีน 1 สายพันธุ์  แต่การกระตุ้นน่าจะสงวนไว้สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มต้องการการป้องกันโรครุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะหลายอย่างร่วมกัน ที่มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรกง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

แนวทางไทยฉีดวัคซีนโควิด ปี 66

สำหรับแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในปี 2566  จะเป็นการให้เข็มกระตุ้น 2 เข็ม  โดยจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยงสูงเป็นลำดับแรก คือ ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน กลุ่มเสี่ยง 608 ส่วนวัยทำงานได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 3-4 เข็ม ยืนยันวัคซีนที่มีมากกว่า 20 ล้านโดส เพียงพอสำหรับการให้บริการทั้งนักท่องเทียวและคนไทยแน่นอน โดยบริษัทจะทยอยส่งมอบตามที่กรมกำหนด