ถอด 13 บทเรียนจากโควิด-19 เพื่อต่อยอด ลดผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ถอด 13 บทเรียนจากโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ต่อยอดเพื่อลดผลกระทบของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถอด 13 บทเรียนจากโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ต่อยอดเพื่อลดผลกระทบของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะยับยั้งการระบาดลดการแพร่ระบาด ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ลดการป่วยเรื้อรัง และลดการเสียชีวิต
13 ประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกได้จากการถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural history) ของโรคโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ต่อยอดเพื่อลดผลกระทบของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะยับยั้งการระบาดลดการแพร่ระบาด ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ลดการป่วยเรื้อรัง และลดการเสียชีวิต
ในช่วง 3 ปีของการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก (Pandemic) องค์การอนามัยโลก รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 767 ล้านคน และเสียชีวิต 6.9 ล้านคน เพื่อมิให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ทำให้หลายประเทศเร่งเตรียมพร้อมถอดบทเรียนจากการศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติของโควิด-19 อันหมายถึงการศึกษาข้อมูลการอุบัติขึ้น การลุกลามแพร่ระบาดของโรค ศึกษาอาการตั้งแต่เริ่มมีอาการจนหายหรือเสียชีวิต เพื่อนำมาปรับใช้ลดผลกระทบของโรคอุบัติใหม่ที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ลดการป่วยเรื้อรัง และลดการเสียชีวิต สรุปได้ 13 ข้อดังนี้
1. เร่งฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งรับสมัครเพิ่มเติม : ลงทุนในการปรับปรุงทั้งปริมาณและคุณภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะระบาดในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเกิดถี่ขึ้น จากการรุกป่า ภาวะโรคร้อน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุภูมิคุ้มกันธรรมชาติลดต่ำ การเดินทางระหว่างประเทศด้วยเครื่องบินมากขึ้น การอยู่อย่างหนาแน่นของประชาชนในเขตเมือง
ประเทศไทย : มีการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ มีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในการเข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือนซึ่งหลายประเทศไม่มี
ในกรุงเทพจะมีสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรคทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการควบคุมโรคระบาดในเขตเมือง มีสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรคดูแลผู้ติดเชื้อรุนแรงหรือโรคอุบัติใหม่ซึ่งมักจะมาจากผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มาทางเครื่องบิน ได้รับงบประมาณเพิ่มปริมาณของห้อง ICU ความดันลบ, และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม
2.ควรมีระบบการตรวจผู้ติดเชื้อและทราบผลอย่างรวดเร็วผนวกกับระบบติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ขึ้นเพื่อรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาด
ประเทศไทย : มีหน่วยตรวจไวรัสโควิด-19 ด้วยเทคนิค PCR ภายใน 24-48 ชั่วโมงที่ผ่านการรับรองทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง สามารถปรับมาใช้ตรวจหาจุลชีพและไวรัสที่ก่อโรคระบาดในอนาคตได้
3. การเพิ่มการผลิตอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลหรือ PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้พอเพียง , เพิ่มปริมาณของห้อง ICU ความดันลบ, และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม
4.ตั้งศูนย์เฝ้าระวังการระบาดของโรคอุบัติใหม่หรือโรค “X” (ผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ) และโรคอุบัติซ้ำด้วยการ
- การตรวจจีโนมของจุลชีพและไวรัสจากน้ำเสียในชุมชน (City-wide wastewater genomic surveillance) เพื่อบ่งชี้ประเภทเชื้อในชุมชนก่อนเกิดผู้เจ็บป่วย
- ถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมจุลชีพและไวรัสขั้นสูงทั้งดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ ด้วยเทคโนโลยี “เมตาจีโนมิกส์” (Metagenomics) จากสิ่งส่งตรวจจากผู้ติดเชื้อที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยติดเชื้ออะไร
- การถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของจุลชีพและไวรัสจากผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการกลายพันธุ์ที่อาจก่อโรครุนแรง (Variants and Genomic Surveillance for pathogens)
5.ภาครัฐสนับสนุนเงินทุนวิจัยสำหรับพัฒนาเทคนิคการวินิจฉัยเชื้ออุบัติใหม่ที่รวดเร็ว การผลิตวัคซีน แอนติบอดีสำเร็จรูป ยาต้านไวรัส ใช้เองในประเทศ และการวิจัยโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
รวมทั้งเพิ่มความรวดเร็วของคณะกรรมการจริยธรรมในการพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยฯที่เกี่ยวข้องกับโรคอุบัติใหม่เพื่อทันต่อสถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว: เช่น คณะกรรมการจริยธรรมในอังกฤษจะมีช่องทางพิเศษ (fast track) ในการพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยฯที่เกี่ยวข้องกับโรคอุบัติใหม่ให้แล้วเสร็จใน 1-2 เดือน
6.ทำงานประสานกับเครือข่ายเฝ้าระวังโรคติดต่อทั่วโลก เช่นองค์การอนามัยโลก
7.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแบ่งปันข้อมูลรหัสพันธุกรรมจีโนมของโรคติดเชื้อระหว่างประเทศให้กับหน่วยงานกลาง เช่น “จีเสส (GISAID)” ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์
8.ดำเนินการรณรงค์ให้เกิดความรอบรู้ หรือตระหนักรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ (Health literacy of infectious diseases) คือความสามารถในการทำให้ประชาชนเข้าใจมาตรการด้านสาธารณสุขและตัดสินใจอย่างรอบรู้เพื่อปกป้องตนเอง ครอบครัวและชุมชน
ประโยชน์ของความรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ได้แก่ การป้องกันข้อมูลที่ผิด การปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การลดความเหลื่อมล้ำ และการให้อำนาจแต่ละบุคคลในการควบคุม ดูแลความเป็นอยู่ของตนเอง
ประเทศไทย: เช่น กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชน ผ่านบรรดานักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์และสถาบันวิจัยทั่วประเทศ
9.สนับสนุนนโยบายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการรุกล้ำป่า ลดภาวะโลกร้อน
10.มีนโยบายดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง และกำลังจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในอนาคต
ประเทศไทย : อายุเฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี จากเดิมเพียงประมาณ 50 ปี เมื่อ 66 ปีที่แล้ว โดยมีอัตราเด็กเกิดใหม่ ณ. ปัจจุบันเพียง 1.2 คน จากพ่อแม่หนึ่งครอบครัว
11.เสริมสร้างกฎระเบียบควบคุมตลาดสดและการค้าสัตว์ป่ามิให้เป็นแหล่งแพร่เชื้ออุบัติใหม่สู่ชุมชน
12.มีระบบควบคุมห้องปฏิบัติการวิจัยเชื้อโรคจากสัตว์ป่าที่อาจก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่ไม่ให้หลุดออกมาจากห้องแล็บแพร่สู่ชุมชน
13.เตรียมแผนและกำหนดมาตรการเช่น ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีน การปิดโรงเรียน การปิดเมือง (หากจำเป็น) ที่ปรับเปลี่ยนได้ ตามสถานการณ์ของโรคระบาดที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว