สสส. สานพลัง UNDP ลดความเหลื่อมล้ำ พลิกโฉมระบบอาหารระดับโลก
สสส. สานพลัง UNDP และ 40 ภาคีแผนอาหาร เปิดเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคม 'พลังระบบอาหารสู้วิกฤต' หนุน 4 ยุทธศาสตร์ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สอดรับเป้าพลิกโฉมระบบอาหารระดับโลก
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคม 'พลังระบบอาหารสู้วิกฤต' ว่า การขับเคลื่อนงานด้านอาหาร เป็น 1 ใน 7 ประเด็นการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายของแผนระยะ 10 ปี สสส. มุ่งให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล เนื่องจากสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งในปี 2567 สสส. เน้นขับเคลื่อนการทำงานตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 ประเด็น
1.ส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนัก เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและเหมาะสม
2.ผลักดันนโยบายสาธารณะส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะและปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืนภายใต้กลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- SDGs กับ วิกฤติอาหารโลก | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
- 'โลก' ตื่นรับมือความมั่นคงอาหาร สศก.ชี้ไทยมีแผนรับมือวิกฤติ
- อย่าประมาทวิกฤติอาหารโลก และควรเตรียมรับมือ | บัณฑิต นิจถาวร
3.สร้างสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยบูรณาการองค์กรชุมชน และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน สนับสนุนระบบการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการอย่างครบวงจร เพื่อสร้างวิถีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ
4.ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาหารชุมชน สร้างความเข้มแข็งต่อกระบวนการผลิตอาหารในระดับครัวเรือน ชุมชน และอุตสาหกรรมอาหารด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงผลผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะ จากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สอดรับเป้าหมายระดับโลก โดยเฉพาะ 'วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030' ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงไปทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร
นางอิรีน่า กอร์ยูโนว่า รักษาการผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ปี 2566 พบว่า ไทยมีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายที่ดี แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายในการเร่งการพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 Zero Hunger และเป้าหมายที่ 13 Climate action ที่กำลังถดถอยท่ามกลางภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
สถานการณ์ห่วงโซ่อาหารของโลกทำให้ต้องทบทวนกระบวนการนโยบายสาธารณะ ที่เชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานของการผลิตและการกระจายอาหารสู่ผู้คนและกลุ่มที่เปราะบาง องค์กรและหน่วยงานที่มีพันธกิจจึงไม่จำกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จำเป็นต้องมองหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน ก้าวข้ามกรอบเดิมๆ UNDP สานพลังทุกภาคส่วนในไทย ในกระบวนการพัฒนา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ และสมดุลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
“ในฐานะ SDG integrator จึงพร้อมสนับสนุนพันธมิตรในการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืน เวทีบูรณาการฯ นี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจพัฒนาความร่วมมือ “แพลตฟอร์มสนทนานโยบายอาหาร” (Food Policy Dialogue Platform) ซึ่งเป็นกระบวนการทำแผนผังทบทวนโจทย์ปัญหาในระบบอาหารที่ขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่าย เพื่อค้นหาโอกาสและแนวทางพัฒนา ต่อยอด เชื่อมโยง ทลายกำแพงความรู้และศักยภาพระหว่างองค์กรที่เข้าร่วม รวมถึงร่วมค้นหาความท้าทายในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่มีผลต่อการขยายผลลัพธ์และขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเป้าสร้างเสริมภาวะผู้นำที่เข้มแข็งให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนในระดับโลก โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นางอิรีน่า กล่าว
นางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการโครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหารและร่วมกับภาคีเพื่อการขยายผลระบบอาหารสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ทุกคนควรตระหนักในการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นพลเมืองอาหาร ที่มีความรอบรู้ด้านอาหาร มีบทบาทหน้าที่และสิทธิได้รับอาหารที่ดี เข้าใจคุณค่าอาหาร และมีความเชื่อมโยงการบริโภคกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเป็นชุมชนอาหาร ที่สร้างการมีส่วนร่วมตลอดระบบห่วงโซ่ ในการนี้ จึงได้พัฒนาแนวคิด “สภาอาหาร” รูปแบบการจัดการอาหารสุขภาวะเชิงบูรณาการระบบอาหารและบูรณาการเชิงพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต แปรรูป จำหน่าย บริโภค รวมทั้งขยะอาหาร ภายใต้แนวคิด 3 Foods
1.Food citizenship
2.Food literacy
3.Food community
มีกลไกที่สำคัญ 3 ส่วน
1.กลไกทางสังคม
2.กลไกภาคส่วน
3.กลไกหน่วยงานรัฐ
เน้นเปิดพื้นที่การสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดกลไกใหม่ๆ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในอนาคต