8 วัตถุดิบอาหารที่อาจ ‘หายไป’ จากวิกฤติภาวะโลกร้อน
อีก 30 ปีอาจไม่มี “ช็อคโกแลต” ให้กินอีกแล้ว! เปิดรายชื่อวัตถุดิบ-อาหารที่มีความเสี่ยง “สูญพันธุ์” ผลกระทบจาก “โลกร้อน” สภาพอากาศไม่เอื้อ บรรยากาศเปลี่ยนกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคเผชิญข้าวของราคาแพงจากวิกฤติขาดแคลนอาหาร
Key Points:
- อุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นนอกจากจะส่งผลกับความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ยังทำให้ “อาหาร” หรือ “วัตถุดิบ” บางอย่างมีแนวโน้มจะลดลงหรือ “หายไป” ด้วย
- จุดร่วมที่คล้ายคลึงกันของ “อุปทานที่ลดลง” คือ อากาศที่ร้อนแห้งแล้งขึ้นกว่าเดิม แม้เพียง 1-2 องศาเซลเซียสก็ส่งผลกับการเจริญเติบโตของพืชบางชนิด และยังทำให้คุณภาพของวัตถุดิบเหล่านั้นลดลงด้วย
- ทั้งพืชที่ปลูกบนดินอย่าง “กล้วย” “โกโก้” “อะโวคาโด” ฯลฯ ก็ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือกระทั่ง “แซลมอน” รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ก็มีภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อันเนื่องมาจากระดับออกซิเจนในน้ำที่ลดต่ำลง
เมื่อเร็วๆ นี้ “ยูเอ็น” ออกมาประกาศเตือนว่า โลกของเราได้สิ้นสุดยุคโลกร้อนแล้ว และกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” แทน ฟังแบบนี้แล้วก็ดูจะเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะอุณหภูมิโลกและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงระบบนิเวศที่ช่วยโอบอุ้มมนุษย์ย่อมได้รับแรงกระแทกอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
ปี 2022 สำนักข่าว “ยูโรนิวส์” (Euro News) รายงานถึงสถานการณ์ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยระบุว่า “ข้าวสาลี” และ “กาแฟ” มีราคาแพงขึ้นตามอุณหภูมิในยุโรปที่ร้อนขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆ อย่าง สเปน “น้ำมันมะกอก” ก็มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน รวมทั้งผลผลิต “ข้าวบาร์เลย์” ในสหราชอาณาจักรก็มีผลผลิตลดลงอย่างมาก และเริ่มส่งสัญญาณถึงภาวะ “ขาดแคลน” ด้วย
หากสถานการณ์ “โลกร้อน” หรือ “โลกเดือด” ยังดำเนินเช่นนี้อยู่เรื่อยไป ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาหารการกินที่เราคุ้นชินกัน ของที่เราไม่คิดว่าวันหนึ่งจะเกิดปรากฏการณ์ “สูญพันธุ์” ก็อาจมาถึงได้ในไม่ช้า ยิ่งอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเท่าไรก็ยิ่งสะท้อนว่า โลกของเราเข้าสู่วิกฤติแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้โลกกลับมาคงสภาพอย่างที่ควรจะเป็น เราอาจจะไม่ได้กินของอร่อยเหล่านี้อีกเลยตลอดชีวิต!
และนี่คือ 8 วัตถุดิบที่อาจหายไปจากวิกฤติ “ภาวะโลกร้อน”
- กล้วย
กล้วยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหลายภูมิภาค มีการเพาะปลูกกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่มีสภาพอากาศจัดอยู่ในกลุ่ม “เขตร้อน” การผลิตส่วนใหญ่มาจากทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา แม้ว่า “กล้วย” จะเติบโตได้ดีในประเทศ “เขตร้อน” แต่ไม่ได้หมายความว่า จะชอบสภาพอากาศ “ร้อนจัด” โดยอุณหภูมิที่กล้วยจะเจริญเติบโตได้ดีต้องเป็นอากาศที่ค่อนไปทางชื้นและอบอุ่น
ช่วงที่ผ่านมาประเทศที่มีการปลูกกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจและได้รับผลกระทบจากอากาศที่เปลี่ยนไป ได้แก่ อินเดีย ไอวอรีโคสต์ และบราซิล ประกอบกับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “กล้วย” ยังถูกคุกคามจากโรคเชื้อราอย่าง “โรคปานามา” และ “โรคซิกาโตกา” ที่ทำให้พืชตายจากการขาดน้ำได้
อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเร่งความเสี่ยงของโรคที่จะเกิดขึ้นในพืชกล้วยให้เจริญเติบโต เนื่องจากเชื้อโรคจำพวกนี้ชอบอากาศที่มีอุณหภูมิสูง แม้ว่าโรคดังกล่าวจะไม่ได้บ่อนทำลายกล้วยไปทั้งหมด แต่ก็มีส่วนให้ผลผลิตลดลง ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของกล้วยทั่วโลก
- กาแฟ
เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และมีสถิติเฉลี่ยจากเว็บไซต์ยูโรนิวส์ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกบริโภคกาแฟเฉลี่ย 2,000 ล้านแก้วต่อวัน เฉพาะชาวอเมริกันนั้นมีผลสำรวจออกมาว่า ประชากรกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศนิยมดื่มกาแฟ และมีสัดส่วนการบริโภคโดยเฉลี่ยถึงคนละ 3 แก้วต่อวัน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สูงขึ้นมีผลต่อการปลูกพันธุ์เมล็ดกาแฟเช่นเดียวกับอาหารและวัตถุดิบประเภทอื่นๆ ทั้งก๊าซเรือนกระจก มลพิษ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นล้วนส่งผลกับปริมาณเมล็ดกาแฟในท้องตลาดทั้งสิ้น โดยมีกาแฟกว่าร้อยสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดีในอุณหภูมิอบอุ่น
บทความจากวารสารมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ระบุว่า พื้นที่ปลูกกาแฟบริเวณหุบเขาแถบโคลอมเบียกำลังประสบปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง “กาแฟ” เป็นพืชที่มีความเฉพาะตัวและอ่อนไหวต่ออากาศอย่างมาก โดยผลการศึกษาจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์พบว่า ชั่วโมงที่มีแสงแดดส่องมายังบริเวณดังกล่าวลดลง 19 เปอร์เซ็นต์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อกำลังการผลิตเมล็ดกาแฟโดยตรง
และในทางกลับกัน อุณหภูมิที่ “ร้อนเกินไป” ก็ทำให้เกิดแมลงศัตรูพืชรวมถึงโรคเชื้อราที่สร้างความเสียหายต่อต้นกาแฟ โดยมีการระบุว่า ภายในปี 2080 พื้นที่ปลูกกาแฟในแถบแอฟริกาอาจลดลงกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์กำลังมองหาพันธุ์กาแฟที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากกว่า แต่ก็ดูเหมือนว่า จะยังไม่มีอะไรมาทดแทนความหอมกรุ่นของ “อาราบิก้า” ได้ในเร็วๆ นี้
- ช็อคโกแลต
ข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ “โนอา”) ระบุว่า ต้นโกโก้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2050 โดยต้นโกโก้เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในอุณหภูมิป่าฝนที่มีความชื้นสูง-ฝนตกชุก ผลการศึกษาจากโนอาแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิภายในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกต้นโกโก้จะปรับตัวสูงขึ้นราว 2.1 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 อากาศร้อนไม่ได้ทำลายต้นโกโก้โดยตรง แต่จะส่งผลให้ใบไม้คายน้ำเร็วขึ้นระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งจะส่งผลกระทบกับผลผลิต
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ประเทศผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่อย่าง “กานา” และ “ไอวอรีโคสต์” ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดโกโก้รวมกัน 70 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มลดการผลิตโกโก้ลงภายในปี 2050 โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวอุณหภูมิของทั้งสองประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอากาศที่ร้อนและแห้งเกินไปสำหรับการปลูกโกโก้
- แซลมอน
“อาหารทะเล” คือ อีกหมวดหมู่วัตถุดิบอาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น มลพิษทางน้ำ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความเป็นกรดในมหาสมุทร โดย “สภาผู้พิทักษ์ทางทะเล” (Marine Stewardship Council หรือ “MSC”) องค์กรไม่แสวงหากำไรสำหรับการประมงอย่างยั่งยืนระบุว่า มหาสมุทรทำหน้าที่ดูดซับความร้อนที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สัตว์น้ำได้รับผลกระทบไปด้วยโดยมีแนวโน้มว่า ในพื้นที่เขตร้อนจะสามารถจับสัตว์ทะเลเพื่อการบริโภคลดลง 40 เปอร์เซ็นต์
จากสถานการณ์ที่กล่างมาข้างต้น “ปลาน้ำจืด” จะได้รับผลกระทบอย่างมาก “1 ใน 3” ของปลาเหล่านี้อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ส่วน “ปลาทะเล” ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน โดยเฉพาะ “ปลาแซลมอน” ที่มีความอ่อนไหวต่อระดับออกซิเจนในน้ำอย่างมาก เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิในน้ำสูงขึ้น ระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง จึงเป็นภัยคุกคามต่อแซลมอนอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยมีงานวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลต่อวงจรชีวิตของแซลมอน
ยกตัวอย่างเช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แซลมอนฟักตัวก่อนกำหนด ซึ่งแซลมอนที่คลอดก่อนกำหนดเหล่านี้ยังไม่มีทักษะในการหาอาหารและว่ายน้ำจากแม่น้ำสู่ทะเล ลงท้ายอาจถูกปลาใหญ่กินและทำให้อัตราการผสมพันธุ์ของแซลมอนลดลง ในขณะที่อุปทานของแซลมอนทั่วโลกเท่าเดิมแต่จำนวนประชากรแซลมอนอาจขาดแคลน
- น้ำผึ้ง
“ผึ้ง” เป็นสัตว์ที่มีส่วนในการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศ หากประชากรผึ้งลดลงย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ (ABC News) ทำการศึกษาเกี่ยวกับประชากรผึ้งที่ลดลงในรอบหลายปีมานี้และพบว่า ระหว่างปี 2018 ถึง 2019 “ผึ้ง” ลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2006 “National Geographic” เคยให้นิยามถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า “Colony Collapse Disorder” หรือการล่มสลายของอาณานิคม บางพื้นที่สูญเสียฝูงผึ้งไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป และแน่นอนว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ก็มาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น แม้ความร้อนไม่ได้กระทบต่อตัวผึ้งโดยตรง แต่อุณหภูมิสูงเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ของปรสิตและไรซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อประชากรผึ้งนั่นเอง
นอกจากนี้ การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ก็มีส่วนเช่นกัน หากมนุษย์ไม่สามารถดูแลรังผึ้งได้อย่างเหมาะสม ในอนาคตอุปทานน้ำผึ้งก็จะลดลง ทำให้ราคาในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งผึ้งยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ รับหน้าที่ผู้ผสมเกสรที่สำคัญที่สุดในธรรมชาติมากกว่า 14 ล้านแห่งทั่วโลก หรือนับเป็น “3 ใน 4” ของแหล่งอาหารโลก เว็บไซต์กรีนพีซ (Greenpeace) ระบุว่า ในจำนวนพืช 100 ชนิดที่เป็นอาหารของผู้คนทั่วโลก กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกผสมเกสรโดย “ผึ้งเลี้ยง” และ “ผึ้งป่า” รวมกัน ผึ้งจึงนับเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารอย่างยิ่ง
- ไวน์
ข้อมูลจาก “Nature Climate Change” วารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต (Toronto University) ระบุถึงแนวโน้มการผลิตไวน์ที่ลดลง โดยมีการคาดการณ์ว่า อีก 50 ปีข้างหน้า “ไวน์” จะมีปริมาณลดลง 85 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตไวน์จะมีอากาศที่ “ร้อนเกินไป” สำหรับการผลิตไวน์ระดับพรีเมียม
นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อคุณภาพขององุ่นบางสายพันธุ์ เนื่องจากองุ่นมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของอุณหภูมิและฤดูกาล เมื่อองุ่นอยู่ในอากาศที่ไม่เหมาะสมรสชาติของผลผลิตอย่างไวน์ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย ความหวานอาจลดลง ความเป็นกรดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกะเกณฑ์ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้รสชาติคงที่ได้ยากขึ้น
- สตรอว์เบอร์รี
ผลไม้รสหวานอมเปรี้ยวที่เติบโตได้ดีในอุณหภูมิหนาวเย็นถึงอบอุ่น ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกกระทบไปถึงห่วงโซ่การผลิตของฟาร์มในรัฐแคลิฟอร์เนียและฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งเป็น “ฮับ” ในการปลูกสตรอว์เบอร์รีมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ต่อสัดส่วนการผลิตทั้งสหรัฐ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สตรอว์เบอร์รีออกดอกล่าช้า ผลผลิตลดลง และทำให้ขาดแคลนอย่างหนัก
แม้ว่าสหรัฐจะยังมีอุณหภูมิหนาวเย็นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่ความร้อนที่เพิ่มขึ้นและกินเวลานานกว่าเดิมก็ทำให้คุณภาพของผลผลิตลดลง สตรอว์เบอร์รีเป็นพืชที่มีความต้องการน้ำในปริมาณมากเพื่อการเจริญเติบโต ความร้อนทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็น้อยลง เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทานราคาสตรอว์เบอร์รีจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นนั่นเอง
- อะโวคาโด
พืชสีเขียวที่เป็นส่วนผสมหลักของ “กัวคาโมเล” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในฐานะ “ซูเปอร์ฟู้ด” จากคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลทำให้การผลิตอะโวคาโดทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะคลื่นความร้อนและความแห้งแล้ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อะโวคาโดจะสูญพันธุ์ภายในปี 2050
ธรรมชาติของ “อะโวคาโด” เป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณมากเฉลี่ย 72 แกลลอนต่อผลผลิต 1 ลูก โดยประเทศที่มีการปลูกพืชชนิดนี้มาก ได้แก่ เม็กซิโก และประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งก็พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ล้วนประสบปัญหาอากาศร้อนแห้งแล้ง กระทบต่อหน้าดินในการเพาะปลูก
งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (California University) ระบุว่า ผลผลิตอะโวคาโดจะลดลงกว่าครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 หรืออาจเร็วกว่านั้น เนื่องจากภัยคุกคามทางสภาพอากาศ โดยพบว่า อะโวคาโดมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ
อ้างอิง: Business Insider, Euro News 1, Euro News 2, Greenpeace, Krishi Jagran, Topic Insights