ปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพ: ทางออกงบประมาณ หรือ การเร่งวิกฤติผู้สูงอายุไทย?

ปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพ: ทางออกงบประมาณ หรือ การเร่งวิกฤติผู้สูงอายุไทย?

ประเทศไทยมีวิวัฒนาการนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เริ่มจากการให้เฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจน มาเป็นแบบถ้วนหน้าตั้งแต่ ปี 2552 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า ระเบียบที่ออกมานั้นไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยหลักเกณฑ์ในระเบียบใหม่ที่เป็นประเด็นวิพากษ์ในวงกว้างคือ หนึ่งในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพจะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ

ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งมีนัยว่า เบี้ยยังชีพจะไม่เป็นแบบถ้วนหน้าอีกต่อไป

ดังนั้น ภารกิจสำคัญต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะต้องเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะออกมาอย่างไร

 

ในส่วนของจำนวนผู้ที่จะได้รับผลกระทบในเวลาอันใกล้นี้ หากคำนวณแบบคร่าวๆ จากสถิติของกรมการปกครองล่าสุด จะพบว่ามีประชากรไทยที่อายุ 59 ปี กว่า 9 แสนคน และที่เข้าคิวรอเกษียณในปีถัดไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีไปอีก 20 ปีข้างหน้า 

หลังจากนั้นจึงจะค่อยผ่อนคลายลง สมมติว่าเกณฑ์ความยากจนที่ใกล้เคียงกับกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะถูกนำมาใช้ ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีฐานะยากจน หากหักจำนวนคนจนออกจาก 9 แสนคนที่จะเกษียณในปีนี้ ก็จะมีผู้สูงอายุกว่า 6 แสนคนที่จะไม่มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพดังเช่นรุ่นก่อนๆ

หากเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาวะความยากจนที่เป็นอยู่จริง ก็จะทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่มีรายได้ไม่เพียงพอแต่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เป็นการเร่งวิกฤติปัญหาผู้สูงอายุให้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นเบี้ยยังชีพ หากมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงควรได้สำหรับประชาชน ก็ไม่ควรตัดออก แต่หากมองว่าเป็นการสงเคราะห์ เบี้ยยังชีพก็เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการ ในบรรดาหลายๆมาตรการ นโยบายการช่วยเหลือสามารถทำได้ทั้งสองฝั่งของสมการ

ปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพ: ทางออกงบประมาณ หรือ การเร่งวิกฤติผู้สูงอายุไทย?

คือฝั่งของการเพิ่มรายได้ ซึ่งรวมถึงเบี้ยยังชีพ และฝั่งของการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยสุทธิ รายได้ต้องเพียงพอแก่การยังชีพ ในความเห็นของผู้เขียน เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการปรับนโยบายส่วนใหญ่ เป็นการปรับเฉพาะเรื่อง ไม่ได้ดูภาพรวม

ทั้งนี้ ไม่ว่าวิธีการจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยควรมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความเพียงพอที่เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

เมื่อพิจารณาถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 ระบุไว้ว่า "..บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลยากไร้ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐบาล..."

หากสมมติว่าจะใช้เกณฑ์ว่า “ต้องจน” ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สำคัญว่า ทำอย่างไรให้คนจำนวนมากที่คุณสมบัติอาจจะไม่ตรงกับเกณฑ์มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย

ดังนั้นก่อนจะนำระเบียบดังกล่าวไปปฏิบัติจริง  รัฐบาลต้องสามารถอธิบายและพิสูจน์ ได้ว่าการช่วยเหลือในด้านอื่น ในภาพรวม สามารถทำให้เกิดความเพียงพอในการดำรงชีพตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

ปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพ: ทางออกงบประมาณ หรือ การเร่งวิกฤติผู้สูงอายุไทย?

นอกจากนี้ หากหลักเกณฑ์ของรัฐบาลไม่ตรงกันกับหลักเกณฑ์ตามความเข้าใจของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในเหตุผลหลักที่รัฐบาลยกขึ้นมาชี้แจงต่อประชาชนคือ ข้อจำกัดทางงบประมาณจากรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นหลักเกณฑ์เดิม รัฐบาลจะต้องจ่ายโดยรวมประมาณหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาทสำหรับประชาชนผู้สูงอายุจำนวนกว่า 11 ล้านคน (เฉลี่ยเดือนละประมาณ 800 บาทต่อคน) 

ปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพ: ทางออกงบประมาณ หรือ การเร่งวิกฤติผู้สูงอายุไทย?

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีข้าราชการบำนาญ ที่มีจำนวนประมาณ 8 แสนคน แต่ใช้งบประมาณเกิน 3 แสนล้านบาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นกว่าบาทต่อคน) และมีการคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 4 แสนล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในเมื่อรัฐบาลยังมีความสามารถในการหาเงินมาสนับสนุนส่วนนี้ได้ ก็ควรจะมีความสามารถในการหาเงินมาสนับสนุนคนจำนวน 11 ล้านคน ที่ใช้งบประมาณน้อยกว่าได้เช่นกัน

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและข้อกังขาในการใส่ใจดูแลคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างข้าราชการซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย กับประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้เสียภาษี

ในขณะนี้ ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะนำระเบียบใหม่มาใช้ จนกว่าจะได้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการเร่งวิกฤติปัญหาผู้สูงอายุและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการดูแลประชาชนในภาคส่วนที่แตกต่างกัน.