ลั่นรัฐแก้กม.เพิ่มโทษ "เมาแล้วขับ" ติดคุกจริง ก่อนมุ่งขยายเวลาขายน้ำเมา
เครือข่ายภาคประชาชนบุกสธ.ค้านขยายเวลาขายน้ำเมา อัดไร้มาตรการรองรับที่เข้มแข็ง ลั่นแก้พ.ร.บ.จราจรทางบก เพิ่มโทษเมาแล้วขับทำคนตายให้ติดคุกจริง ด้าน “สมศักดิ์”ยันจะไม่มีมติเรื่องขยายเวลาจำหน่าย
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีวาระเรื่องของการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร พื้นที่ นำร่อง 4 จังหวัดนั้น ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์
เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายแท็กซี่ สามล้อ ไรเดอร์ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ เครือข่ายเด็ก เยาวชนและผู้หญิง และแกนนำเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสุโขทัยกว่า 800 คน รวมตัวและยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เพื่อขอให้ไม่เห็นชอบการเพิ่มเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยืนตามคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
ไร้มติขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายสมศักดิ์ กล่าวระหว่างรับหนังสือข้อเรียกร้องจากภาคีเครือข่ายฯ ว่า เอกสารที่นำเข้าสู่การประชุมครั้งนี้ ยังไม่ครบถ้วนที่จะชี้ซ้าย ขวา หน้า หลัง ซึ่งจากข้อเสนอของภาคีฯหากเรื่องไหนต้องศึกษาก็ต้องไปพิจารณาอย่างรอบด้านก่อน เพราะการจะไปตัดสินจากของเดิมที่ดีอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย
“วันนี้ ไม่มีมติเรื่องขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไปอย่างแน่นอน ที่สำคัญผมสนับสนุนกองทุนที่จะมาสร้างคความมั่นคงกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการดื่ม โรคภัยไข้เจ็บ จะต้องมาดูเรื่องเยียวยา บำรุงรักษาผู้คนที่ได้รับผลกระทบ”นายสมศักดิ์กล่าว
มูลค่าความสูญเสียมากถึง 1.65 แสนล้านบาท
พระครูสุมณฑ์ ธรรมธาดา ผศ.ดร.เจ้าอาวาสวัดคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ มีการพิจารณาเห็นชอบให้เพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมาก
ทั้งปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ ความรุนแรง การทะเลาะวิวาท และอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้น แล้วก็วนกลับมาเป็นปัญหาต่อระบบสุขภาพของไทย แม้แต่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะทำให้ดีขึ้นก็จะรับมือกับปัญหาที่จะตามมาไม่ไหว
มีข้อมูลออกมาชัดเจนว่า ลำพังปัจจุบันมีร้านขายเหล้าเบียร์ที่มีใบอนุญาตมากกว่า 5.7 แสนราย และที่แอบขายอีกจำนวนมาก ซึ่งตามกฎหมายให้ขายได้ 2 ช่วงเวลา คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.ยังมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีสุราเข้าไปเกี่ยวข้องกว่า 53,000 คนต่อปี
ถ้าเพิ่มเวลาขายมากขึ้น ก็อาจจะมีคนบาดเจ็บ และเสียชีวิตเพิ่มเป็นเท่าตัว หากเพิ่มเวลาขายในร้านอาหารทั่วไปจนถึงตี 4 ตามแนวคิดรัฐบาลหรือตามที่กลุ่มธุรกิจน้ำเมาเสนอให้ยกเลิกเวลาห้ามขายช่วงบ่าย
“ ปัจจุบันมีการประมาณการมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากถึง 1.65 แสนล้านบาท ล่าสุดข้อมูลเฉพาะเดือนมกราคม 2567 เทียบกับเดือนมกราคมในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีเหล้าเบียร์มาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นทั้ง 4 จังหวัดเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 30 (กรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี) ดังนั้นนโยบายที่จะเพิ่มเวลาขายเหล้ามากขึ้น จึงถือเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย” พระครูสุมณฑ์ กล่าว
ยื่น 3 ข้อเสนอเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้าน ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า วันนี้เครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ดังนี้
1. เครือข่ายขอคัดค้านการเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่ยังไม่มีมาตรการรองรับที่เข้มแข็ง มากกว่าการขอความร่วมมือซี่งไม่เป็นจริง และขอให้มีการประเมินผลได้ผลเสีย ความคุ้มค่าจากการขยายเวลาในสถานบริการที่นำร่องไปแล้ว 5 พื้นที่โดยหน่วยงานที่เป็นกลางเชื่อถือได้ ก่อนเดินหน้าเพิ่มเวลาขายและพื้นที่ หากผลประเมินออกมาแล้วได้ไม่คุ้มเสีย ผลกระทบตามมามากเกินกว่าจะรับได้ ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการขยายเวลาในพื้นที่นำร่องทั้งหมดทันที
2. เครือข่ายขอให้กำลังใจคณะกรรมการนโยบายฯ ให้มีมติยืนตามคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเหตุผลครบถ้วน ยึดเอาสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ มากกว่าข้ออ้างในทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เลื่อนลอย ขาดข้อมูลทางวิชาการที่ดีพอ และเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และ 3. ขอให้เร่งดำเนินมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมก่อนจะพิจารณานโยบายนี้ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก เพิ่มโทษผู้ที่เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพื่อปิดช่องว่างการรอลงอาญา ทำให้ติดคุกกันจริง หรือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ไม่ให้อ่อนแอลงตามข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์