ปวดหลัง ปวดบั้นเอว สัญญาณที่บอกว่าอาจเป็น "โรคไต" พฤติกรรมที่ต้องปรับด่วน

ปวดหลัง ปวดบั้นเอว สัญญาณที่บอกว่าอาจเป็น "โรคไต" พฤติกรรมที่ต้องปรับด่วน

4 อาการ สัญญาณบอกที่อาจกำลังเป็นโรคไต  พฤติกรรมที่ต้องปรับเพื่อชะลอไตเสื่อม ตัวเลขปี 2566 พบคนไทยป่วยไตเรื้อรังกว่า 1 ล้านคน  1 ปีเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนคน

วันไตโลก องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นวันรณรงค์ คือ “Kidney Health for All - Advancing Equitable Access to Care and Optimal Medication Practice : ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา”

มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเข้าถึงการบริการที่เท่าเทียม และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและชะลอการเสื่อมของไต

คนไทยโรคไตเรื้อรังกว่า 1 ล้านคน

โรคไตเรื้อรัง เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก

จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) ในปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,062,756 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 85,064 คน จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 464,420 ราย ระยะ 4 จำนวน 122,363 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 70,474 ราย

อาการสัญญาณเตือนโรคไต

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น เกิดได้จากปัจจัยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านพฤติกรรม ด้านพันธุกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตบ่อยที่สุดคือ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 80%

สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคไตอักเสบเรื้อรังชนิดต่างๆ หรือเกิดจากการติดเชื้อรุนแรงจนทำให้ไตถูกทำลาย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นควรได้รับการคัดกรอง หากพบในระยะแรกๆ และได้รับการรักษารวมถึงการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ เพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคไตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย หากไม่ได้รับการตรวจหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคตามมาได้

ปวดหลัง ปวดบั้นเอว สัญญาณที่บอกว่าอาจเป็น \"โรคไต\" พฤติกรรมที่ต้องปรับด่วน

ผู้ป่วยโรคไตระยะแรกๆ มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว อาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือนโรคไต เช่น

  • ตัวบวม เท้าบวม
  •  เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
  • ปัสสาวะมีความผิดปกติ รวมถึงมีความดันโลหิตสูงมาก

การตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการตรวจเลือดดูการทำงานของไตและการตรวจปัสสาวะถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิเช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต เป็นต้น

ปรับพฤติกรรมชะลอไตเสื่อม

นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อป้องกันหรือชะลอไม่ให้เกิดโรคไตวายระยะสุดท้ายเป็นเรื่องที่จำเป็น ด้วยการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือน้อยกว่าระยะที่ 4 เพื่อชะลอความเสื่อมของไตให้ได้ผลดี และลดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและไตวาย

การชะลอความเสื่อมของไตทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงสารหรือยาที่มีผลเสียต่อไต เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการจำกัดอาหารบางชนิดที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและระยะของโรคไตเรื้อรัง

กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันโรคไตในชุมชนผ่านกลไกระดับพื้นที่          เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักและป้องกันโรคไตเรื้อรังในชุมชนโดยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และขับเคลื่อนการดำเนินงานลดบริโภคเกลือและโซเดียม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย หรือ SALTS เพื่อสร้างความตระหนักลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมเกินในประชาชน
ปวดหลัง ปวดบั้นเอว สัญญาณที่บอกว่าอาจเป็น \"โรคไต\" พฤติกรรมที่ต้องปรับด่วน

วิธีป้องกันโรคไตเรื้อรัง

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า โรคไตเรื้อรังเป็นภาวะแทรกซ้อน   ที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือความดันโลหิตไม่ดีก็มีโอกาส  เป็นโรคไตได้  การป้องกันโรคไตเรื้อรังทำได้โดย

  • ควบคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือดให้คนปกติและผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป น้อยกว่า 6.5% ผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคร่วม 7 ถึง 7.5% ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม น้อยกว่า 8%
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเน้นรับประทานอาหารเค็มน้อย เกลือน้อยกว่า 5 กรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชา
  •  รับประทานยาให้ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์
  • งดการรับประทานยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีสิทธิบัตรทองสามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องการเปลี่ยนการล้างไตทางหน้าท้องเป็นการฟอกเลือด หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องการใช้วิธีฟอกเลือด ควรปรึกษาและตัดสินใจร่วมกับแพทย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

เลือกผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า แนะนำให้ผู้บริโภคหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs (Non-communicable diseases) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ให้มองหาสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) บนฉลาก

“เครื่องหมายนี้จะบอกปริมาณสารอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ที่เหมาะสมต่อสุขภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน เช่น น้ำปลาทั่วไป 1 ช้อนโต๊ะ จะมีโซเดียม ประมาณ 1,500 มิลลิกรัม แต่น้ำปลามีสัญลักษณ์นี้บนฉลาก 1 ช้อนโต๊ะ จะมีโซเดียมไม่เกิน 900 มิลลิกรัม เป็นต้น”ภก.เลิศชายกล่าว 

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรองฉลากทางเลือกสุขภาพให้ได้เลือกสรรมากถึง 14 กลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม น้ำมันและไขมัน ขนมปัง อาหารเช้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ผลิตภัณฑ์อาหารว่าง ผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ รวม 2,967 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ก่อนซื้อผู้บริโภคสามารถนำเลขสารบบอาหารเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th