เมื่อ "อาหาร" กำลังทำร้ายสุขภาพ "เด็กไทย"
เมื่อ“อาหาร”สิ่งจำเป็นของชีวิต แต่พบมีเป็นจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและกำลังกลายเป็นสิ่งทำร้าย “เด็กไทย” ควรต้องเร่งออกกฎหมายคุม
KEY
POINTS
- สำรวจอาหารที่แวดล้อมเด็กไทย เข้าถึงง่าย อย่างอาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว พบปริมาณโซเดียม หวานและไขมันสูง ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 80 % ไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการ
- อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กหากกินอาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยวบ่อยๆ ทำให้เกิดโรคอ้วนและเสี่ยงต่อโรคอื่นๆตามมาอีกมาก
- แนะเลือกอาหารที่มี “ฉลากทางเลือกสุขภาพ”เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับลดโซเดียม ความหวาน และมันลง ปัจจุบันมี 14 กลุ่มอาหาร
- เร่งสร้างสภาพแวดล้อมอาหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก กรมอนามัยเดินหน้างร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก มุ่งคุมส่งเสริมการตลาดอาหารแปรรูปที่มีไขมัน โซเดียม น้ำตาลสูง
ลองนึกภาพเด็กไทย กำลังรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยโซเดียม ความหวานแบบจุกๆ มีความมันแบบแน่นๆ เมื่อรับเข้าไปแล้วส่งผลอย่างไรต่อสภาพร่างกายและสุขภาพของเด็ก
นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งช่วยกัน “ปรับสภาพแวดล้อมของอาหารให้ส่งผล กระทบด้านลบต่อสุขภาพเด็กให้น้อยที่สุด” ท่ามกลางสังคมที่พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจจะไม่มีเวลาปรุงอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วนให้ลูกเอง
ปริมาณโซเดียม อาหารแช่แข็ง
ลักษณะอาหารที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อสุขภาพเด็กและเป็นอาหารที่เด็กเช้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน คือ ประเภท ปริมาณโซเดียม น้ำตาล และไขมันสูง
ยกตัวอย่างเรื่องของอาหารแช่แข็ง สำเร็จรูป ที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย หยิบยื่นให้ลูกรับประทานเป็นมื้ออาหารหลัก เนื่องจากมีความสะดวกและพ่อแม่ไม่มีเวลาประกอบอาหารให้ลูกนั้น
เมื่อช่วงปลายปี 2563 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาหาร พบว่า
1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม
2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม
3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230 มิลลิกรัม
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนําไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ขนมกรุบขบเคี้ยว ต้นตอโรคอ้วน
ในส่วนของขนมที่เด็กรับประทาน เป็นอีกส่วนที่เด็กนิยมอย่างมาก แต่สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ระบุว่า ขนมขบเคี้ยวที่บรรจุซองส่วนใหญ่ทำมาจาก แป้งทอดกรอบที่มีน้ำตาล โซเดียมหรือเกลือ และผงชูรส ซึ่งไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ
โดยแป้งและน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเด็กกินมากๆทำให้เป็นโรคอ้วน
อีกทั้ง ข้อมูลจาก สำนักโภชนการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าการประเมินผลิตภัณฑ์อาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการ(who nutrient profile model) โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าประเมินได้ 17,030 รายการ พบว่า ผ่านเกณฑ์ 11.9 % ไม่ผ่านเกณฑ์ 88.1 %
และเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์มีปริมาณน้ำตาล ไขมันและโซเดียมที่เหมาะสม โดยผลิตภัณฑ์ที่เข้าประเมิน ผ่านเกณฑ์ 12 % ไม่ผ่านเกณฑ์ 88 %
โรคอ้วน เด็กไทยไม่ลดลง
เด็กที่กินอาหารหวาน มัน เค็มซ้ำๆบ่อยๆ หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารหลักนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 พบว่าใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 5.8 %เป็น 11.4 % เด็กอายุ 5-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จาก5.8 % เป็น13.9 %และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะอ้วน 13.2 %
และสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federations หรือ WOF) คาดการณ์ว่า ปี 2573 คนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึง 30 %
“สถานการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยอยู่ที่ระดับ 12-13% ยิ่งเป็นในเขตเมืองก็จะเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดขึ้น พ่อแม่ไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกเอง ก็ต้องพึ่งพาอาหารแปรรูป ทั้งที่ควรจะต้องลดลง เนื่องจากเคยมีการตั้งเป้าหมายก่อนปี 2560 ว่าเด็กอ้วนในวัยเรียนจะไม่เกิน 10 %” พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึง
เด็กอ้วน เสี่ยงหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ
ฉลากอาหารทางเลือกสุขภาพ
หากเลี่ยงได้ยากและมีความจำเป็นต้องเลือกผลิตภัณฑ์อาหารมาให้ลูกรับประทาน ควรพิจารณาเลือกจากผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ฉลากทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารแช่แข็ง จำนวนไม่น้อยพยายามปรับลดปริมาณโซเดียม ความหวานและไขมันลง
เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าอาหารได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า มีปริมาณน้ำตาล ไขมันและโซเดียมที่เหมาะสม ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ปัจจุบัน มีจำนวน14 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มอาหารมื้อหลัก (Meal)
2.กลุ่มเครื่องดื่ม (Beverage)
3.กลุ่มเครื่องปรุงรส (Seasoning)
4.กลุ่มผลิตภัณฑ์นม (Dairy product)
5. กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป (Instant food)
6.กลุ่มขนมขบเคี้ยว (Snack)
7.กลุ่มไอศกรีม (Icecream)
8.กลุ่มน้ำมันและไขมัน (Fat and oil)
9.กลุ่มขนมปัง (Bread)
10.กลุ่มอาหารเช้าธัญพืช (Breakfast cereal)
11.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ (Bakery products)
12.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารว่าง (Small meal)
13.กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเล (Fish and other aquatic products)
14.กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (Meat and Poultry products)
เร่งคุมการตลาดอาหารกระทบสุขภาพเด็ก
กรมอนามัยเดินหน้าร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ขณะนี้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้วอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างเพื่อเสนอเข้าครม. โดยมุ่งคุมโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอาหารแปรรูปที่มีไขมัน โซเดียม น้ำตาลสูง
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางด้านกฎหมาย ทั้งที่เด็กไทยมีการบริโภคอาหารแปรรูปมาก และการโฆษณาหรือการส่งเสริมการตลาด ทำโปรโมชัน 1 แถม 1 ต่างๆ ทำให้โอกาสที่เด็กจะได้รับอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ เด็กจะหมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก คือ อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันน้ำตาลโซเดียมสูงหรืออาหารและเครื่องดื่มอื่นใดที่เด็กบริโภคแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการ หรือความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับที่ทำประชาพิจารณ์ มี 4 หมวด 42 มาตรา โดยในหมวด 2 เช่น เกี่ยวข้องกับ การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กดำเนินการ อาทิ
- ฉลากต้องไม่ใช้ข้อความ หรือเทคนิคอื่นใดที่ดึงดูดให้กลุ่มเด็กสนใจ และต้องแสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ในฉลากตามหลักเกณฑ์
- ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือตัวแทน ห้ามแสดงถึงความคุ้มค่าทางด้านราคา
- ห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาหรือสถานที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศฯ
- ห้ามส่งเสริมการขาย แจก แถม ให้ ชิงโชค จัดส่งไม่คิดค่าบริการ
- ห้ามบริจาคในสถานศึกษา และสถานที่ศูนย์รวมสำหรับเด็ก หรือสถานที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศฯ
- ห้ามติดต่อเด็กไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทุกช่องทาง
อ้างอิง : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย , สสส. , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา