“สงกรานต์” ฉ่ำ “น้ำเมา” แก้กฎหมายใหม่ต้องเท่าทันการตลาด
บทเรียนจากสงกรานต์ 2567 ปรับปรุงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ต้องเท่าทันการตลาด คุมการโฆษณาแฝง หลังพบทำผิดกฎหมายพ่วงมากับ “มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง”
KEY
POINTS
- เทศกาลสงกรานต์ 2567 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์การตลาดแบบ “มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง” แฝงการทำผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551หลายประเด็น
- สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เตรียมชงข้อมูลทำผิดกฎหมายน้ำเมา สงกรานต์ 2567 ให้กรรมาธิการ ย้ำแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเท่าทันการตลาด คุมการโฆษณาแฝง
- ส่อง 4 ร่างแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องกดื่มแอลกอฮอล์ ประเด็น “โฆษณา” และท่าทีรัฐบาลต่อทิศทางการปรับแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่
สงกรานต์ เรียกได้ว่าฉ่ำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พ่วงมากับมหกรรมดนตรี หรือนัยหนึ่งคือ “มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย ทั้งที่ “น้ำเมา”นั้น ไม่ใช่สินค้าธรรมดา
สงกรานต์ 2567 ฉ่ำตลาดน้ำเมา
สงกรานต์ 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้การตลาดแบบมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง (Music Marketing) ทั่วประเทศ กว่า 73 แห่ง และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับอาสาสมัครเฝ้าระวังการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ ติดตามการตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอออล์รายใหญ่ 3 ราย ระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน 2567 พบการกระทำผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในหลายประเด็น
1.มีการใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) น้ำดื่มหรือโซดาโฆษณา แต่ที่จริงเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการทำโฆษณาสื่อสารการตลาด
2. การขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20ปี เข้าข่ายการขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ไม่สามารถจัดการดื่มและการแสดงดนตรีให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนดได้
4.การเร่ขาย และการขายแบบลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย เข้าข่ายผิดตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เกี่ยวกับห้ามรูปแบบการขาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 1หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“เป็นห่วงในการทำตลาดของ 3 ค่ายรายใหญ่ ที่อาศัยเทศกาลประเพณีจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมายซึ่งเป็นช่องว่างของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องหลับตาสองข้าง เพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย”นายธีระ วัชรปราณี ผอ.สคล. กล่าว
แก้กฎหมายต้องเท่าทันการตลาด
นายธีระ กล่าวอีกว่า จะมีการเสนอข้อมูลไปยังศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.)เพื่อป้องกันการทำการตลาด และส่งไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณา แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เห็นข้อมูลและพิจารณาว่า การแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เท่าทันการตลาดของรายใหญ่ ไม่ให้สามารถทำการตลาดได้อย่างง่ายขึ้น คุมการโฆษณาแฝง
“ตอนนี้กฎหมายห้ามไว้อย่างชัดเจนก็ยังเห็นการกระทำผิดได้อย่างง่ายดาย ถ้าไปแก้กฎหมายให้สามารถโฆษณา ลด แลก แจกแถมได้ ก็ยิ่งทำการตลาดได้มากขึ้น ส่งเสริมการดื่มมากขึ้น หากแก้กฎหมายเอื้อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ ทุนรายย่อยที่อยากโฆษณา ขายเสรีก็จะแพ้ทุนใหญ่”ธีระกล่าว
นายธีระ กล่าวด้วยว่า สภาที่จะพิจารณาแก้กฎหมายต้องตระหนักและหาวิธีการเขียนกฎหมายให้สามารถควบคุมรายใหญ่ ควบคุมความเสี่ยงได้ด้วย ที่ผ่านมาได้เสนอว่า พื้นที่ที่จะมีการจัดงานต้องขออนุญาต และหน่วยงานรัฐต้องออกมาตรการควบคุม ดูแลอย่างเข้มงวด หากเกิดปัญหาต้องมีความรับผิดชอบ
ร่างพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่
สำหรับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ขณะนี้มีการเสนอ 4 ฉบับ โดยในประเด็นการโฆษณานั้นมีความแตกต่างกัน
- ฉบับนายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ ให้ขายในร้านค้า หรือสโมสรในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติได้ และส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถมได้ ณ จุดขาย ยกเลิกการกำหนดเวลาขยาย เท่ากับขายได้ 24 ชั่วโมง
ยกเลิกการออกมาตรการใหม่เกี่ยวกับสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขาย และวิธีการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ - ฉบับนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ เพิ่มการตรวจอายุของผู้ซื้อ กำหนดหน้าที่ของผู้ขาย เพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา ร้านค้าที่ทำผิดกฎหมาย เพิ่มสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแกผู้เสียหายจากอุบัติเหตุ ให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค และเปลี่ยนโทษทางอาญาเป็นโทษทางปกครอง
โฆษณาได้ภายใต้เงื่อนไขให้ระบบการขออนุญาตก่อนการโฆษณา ลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ควบคุมตราเสมือน ให้ทุนสนับสนุนได้บางกรณี แต่ห้ามโฆษณา และแยกโทษคนทั่วไป ผู้ผลิต สื่อ
- ฉบับที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ ยกเลิกมาตรา 28 เรื่องวัน เวลา ห้ามขาย แปลว่าให้ขายได้ 24 ชั่วโมง ยกเลิกกรณีห้ามขายวันพระ ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่ยืนยันตัวผู้ซื้อได้ ให้ลดราคาได้ เพิ่มให้ดื่มได้ในโรงแรม ที่อยู่ในสถานศึกษา และให้ดื่มในสวนสาธารณะได้
ห้ามมิให้ผู้ประกอบการผลิตหรือจำหน่ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
ท่าทีรัฐบาลต่อแก้พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 ครม.รับทราบผลการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ และจะเสนอเข้าไปในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับของสธ. รวม 8 ข้อ
1.การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเวลาการขยายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 – 24.00 น.
2.การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม หรือสถานบริการที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา
3.การอนุญาตให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมที่จัดขึ้นในสถานที่ของทางราชการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เพิ่มเติมจากบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร เช่น งานแสดงดนตรี ที่จัดขึ้นในสนามกีฬาของทางราชการ เป็นต้น
4.ผู้มีอำนาจในการกำหนดวันและเวลาห้ามขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กำหนดเป็นอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้)
5.การแก้ไขผู้รักษาการตามกฎหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
6.การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
7.การกำหนดรายละเอียดข้อความที่ระบุบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องไม่มีข้อความในลักษณะที่เชิญชวนให้บริโภค
8.ยกเลิกการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น การใช้เครื่องขายอัตโนมัติ การเร่ขาย การลดราคา เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และการเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงรางวัล เป็นต้น