“ยกระดับระบบสุขภาพ” รองรับประชากรข้ามชาติกว่า 3 ล้านคน

“ยกระดับระบบสุขภาพ” รองรับประชากรข้ามชาติกว่า 3 ล้านคน

ปี66 ประชากรข้ามชาติเข้ารับบริการสาธารณสุขของรัฐ ราว 1.94 ล้านคน เร่งยกระดับระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ  แก้ปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทย กว่า 3 ล้านคน ลดความเสี่ยง-เพิ่มการเข้าถึง

KEY

POINTS

  • รายงานของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนพ.ค. 2567 มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ขออนุญาตทำงานในประเทศไทย จำนวน 3,084,852 คน
  • ในปี 2566 มีประชากรข้ามชาติเข้ารับบริการสาธารณสุขในสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 1.94 ล้านคน เป็นผู้ป่วยนอก 1.69 ล้านคน ผู้ป่วยใน 0.25 ล้านคน
  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)-แผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศ ภายใต้ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข MOU ขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับระบบสุขภาพ รองรับประชากรข้ามชาติ ลดความเสี่ยง-เพิ่มการเข้าถึง

การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นฐานของประชากร ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงภาวะสงครามทั้งภายในและระหว่างประเทศ

และประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเดินทางมาจากประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อเข้ามาทำงาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ และมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ข้อมูลจากรายงานของ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ขออนุญาตทำงานในประเทศไทย จำนวน 3,084,852 คน โดยเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา 75.5 % สัญชาติกัมพูชา  15.5 % สัญชาติลาว 8.7 %  ที่เหลือเป็นสัญชาติเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ เช่น สามี ภรรยา บิดามารดา บุตร ฯลฯ อีก 6.8 % ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคจะช่วยให้เกิดการยกระดับการแก้ปัญหา และพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567  ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข แผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศ Division of Global Migration Health program (TUC-DGMH) ภายใต้ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ (Migrants Health) ให้บรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ตลอดจนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ประชากรข้ามชาติรับบริการสาธารณสุขกว่า 1.9 ล้านคน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายหน่วยงานทั้งภาคสาธารณสุข ภาคแรงงาน ภาคความมั่นคงของประเทศ ภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาพยาบาลในกลุ่มประชากรข้ามชาติบนพื้นฐานแห่งมนุษยธรรม โดยไม่คำนึงถึงสถานะบุคคล เชื้อชาติ และศาสนา เห็นได้จากข้อมูลในปี 2566 มีประชากรข้ามชาติเข้ารับบริการสาธารณสุขในสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 1.94 ล้านคน เป็นผู้ป่วยนอก 1.69 ล้านคน ผู้ป่วยใน 0.25 ล้านคน

บันทึกความร่วมมือกัน ระหว่าง สวรส. และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศฯ (TUC-DGMH) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ให้เกิดระบบสุขภาพที่เหมาะสมและเป็นธรรม ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคที่คาดว่าจะส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ยกระดับระบบสุขภาพดูแลประชากรข้ามชาติ

Ms.Barbara Knust, DVM, MPH Director, Division of Global Migration Health Program, THE THAILAND MoPH - U.S.CDC COLLABORATION (TUC-DGMH) กล่าวว่า แผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศ ภายใต้ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นระยะ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ และป้องกันโรคติดต่อในประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ
 

การทำงานร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเสริมสร้างและขยายขีดความสามารถในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ และนำไปสู่การพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

เฝ้าระวังโรคและภัยคุกคามสุขภาพ

ด้านบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศทางผ่านและจุดหมายปลายทางหลักของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค

ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศในพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมถึงกัน ควรต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังโรคและภัยคุกคามสุขภาพ การตอบโต้สถานการณ์ของโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดการด้านสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายระดับประเทศ และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง

“ยกระดับระบบสุขภาพ” รองรับประชากรข้ามชาติกว่า 3 ล้านคน

“แผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติฯ พร้อมร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างและขยายขีดความสามารถในการประเมิน ป้องกัน ตลอดจนบรรเทาผลกระทบของภัยคุกคามทางด้านสุขภาพของผู้ย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมีความสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก  โดยความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นประเด็นที่มีลำดับความสำคัญสูง และเป็นความต้องการเร่งด่วนด้านสาธารณสุข ที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข และการพัฒนาด้านสุขภาพของทุกคนบนแผ่นดินไทย”บุณยวีร์ กล่าว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า เชื่อว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้ระหว่าง สวรส. และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศฯ (TUC-DGMH) จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพของประชากรข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรข้ามชาติได้อีกทางหนึ่ง

เนื่องจากไทยและสหรัฐมีความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขร่วมกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโรคต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก โรคเมอร์ส ฯลฯ ในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่

1.การพัฒนากำลังคน

2.การพัฒนาระบบสาธารณสุข

3.การพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพ เช่น ห้องปฏิบัติการด้านโรคและภัยสุขภาพ

และ 4.การบริหารจัดการโครงการโดยกระทรวงสาธารณสุข