ชงปรับสิทธิรักษาพยาบาล "ประกันสังคม" รัฐสมทบเพิ่ม-โอนให้ใช้สิทธิ 30บาท

ชงปรับสิทธิรักษาพยาบาล "ประกันสังคม"  รัฐสมทบเพิ่ม-โอนให้ใช้สิทธิ 30บาท

รัฐจ่ายสมทบประกันสังคม ต่ำกว่าจ่ายให้สิทธิบัตรทอง 30 บาท นักวิชาการเสนอปรับ รัฐต้องจ่ายให้เท่ากับ 30บาท หรือกำหนดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิรักษาพยาบาล 30 บาท ส่วนเงินจากประกันสังคมจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์เสริมเพิ่มเติม

KEY

POINTS

  • สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ รัฐจ่ายสมทบประกันสังคม 1.5 % ต่ำกว่าจ่ายให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 30 บาท
  • นักวิชาการเสนอปรับ โดยรัฐต้องจ่ายให้ประกันสังคมเท่ากับ 30บาท หรือกำหนดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิรักษาพยาบาล 30 บาท ส่วนเงินจากประกันสังคมจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์เสริมเพิ่มเติม
  • ปัจจุบันทุกคนทุกสิทธิ ทั้งผู้ที่อยู่ในกองทุนประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และบัตรทอง 30 บาท ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเหมือนกัน งบประมาณกว่า20,000 ล้านบาทต่อปี โดยสปสช.เป็นผู้บริหารจัดการ  

ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นคำถามในมาตรการระยะสั้น 4 ปีของรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้ในการปรับปรุง"ประกันสังคม"ว่า ส่วนตัวมองมาตรการเรื่องสุขภาพ

เนื่องจากปัจจุบันคนที่ใช้"สิทธิ 30บาท" ไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะรัฐใช้เงินจากรายได้ภาษีมาดูแล ที่สำคัญสิทธิประโยชน์ของ 30 บาทไม่ได้แย่กว่าประกันสังคม มีบางอย่างที่ดีกว่า ซึ่งสิทธิ 30 บาทนั้นมีทั้งคนรวยคนจน โดยได้รับสิทธิและไม่ต้องสมทบเงิน ด้วยการบอกว่าเป็นสิทธิพื้นฐานสำหรัประชาชน

รัฐต้องสมทบประกันสังคมให้เท่าจ่าย 30 บาท

แต่ประกันสังคมต้องสมทบเงิน 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 1.5 % ซึ่งส่วนที่รัฐสมทบมา 1.5 % น้อยกว่าที่รัฐนำไปช่วย 30 บาท เพราะฉะนั้น ถ้ามองมาตรการระยะสั้นโดยที่ผู้ประกันตนได้ประโยชน์ คิดว่าตรงจุดที่รัฐสมทบอยู่ 1.5 % ควรที่จะต้องเพิ่มสมทบให้เท่ากับที่จ่ายให้ 30 บาท แล้วส่วนที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบฝ่ายละ 1.5 %  ควรที่จะเอาไปใช้เพื่อบำนาญชราภาพ หรือเอามาใช้เป็นสิทธิด้านสุขภาพเพิ่มที่มากกว่า 30 บาท

อย่างเช่น  เพิ่มให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการนอนห้องพิเศษ หรือสิทธิเพิ่มให้กับพ่อแม่ในกรณีที่ต้องการนอนห้องพิเศษ เพราะถ้าพ่อแม่ผู้ประกันตนใช้สิทธิ 30 บาทก็ไม่มีสิทธินอนห้องพิเศษ แต่ถ้าลูกเป็นผู้ประกันตนอยู่ก็ให้เอาเงินสมทบ 1.5 %ของผู้ประกันตนและ 1.5 % ของนายจ้างไปใช้ในสิทธิห้องพิเศษพ่อแม่ กำหนดเป็นสิทธิประโยชน์เสริมของผู้ประกันตน ทุกคนใช้สิทธิ 30 บาท ประกันสังคมจ่ายเป็นสิทธิเสริม

“1.5 %ที่ภาครัฐจ่ายสมทบ ควรเพิ่มให้เท่ากับที่รัฐจัดสรรให้กับกองทุน 30 บาท หรือว่าถ้าไม่จัดสรรผ่านมาที่ประกันสังคม ก็สรุปให้ทุกคนไปใช้สิทธิสุขภาพรักษาพยาบาลภายใต้ 30 บาทเหมือนกัน แล้วเงินที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ ก็ให้ใช้เป็นในส่วนสิทธิเสริมที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกันตน เมื่อไหร่ที่มีการใช้สิทธิเสริมเพิ่มเติมก็ค่อยมาเบิกจากประกันสังคม”ศ.ดร.วรวรรณกล่าว 

บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทุกคนได้เหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพในปัจจุบัน ที่คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสิทธิประกันสังคม บัตรทอง 30บาท หรือสวัสดิการข้าราชการได้รับเหมือนกัน ภายใต้การบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คือ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทั้งนี้ จากเดิมที่บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จัดอยู่ในประเภทหนึ่งของงบเหมาจ่ายรายหัว ครอบคลุมการให้สิทธิเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ 30 บาท ได้รับการจัดสรรปีละประมาณ 400 กว่าล้านบาท

ทว่า ตั้งแต่ปี 2565 สปสช.มีการจัดทำคำของบประมาณในส่วนของสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวมาเป็นกองทุนย่อยเฉพาะเพื่อใช้สำหรับทุกคนทุกสิทธิ ราว 19,265 ล้านบาท แต่มีการท้วงติงว่าสปสช. ไม่ควรมีอำนาจในการดูแลสิทธิอื่นนอกเหนือจากกลุ่ม30 บาท  และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าสปสช.สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้หรือไม่เมื่อปี 2566

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 แจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ บัญญัติให้ "บุคคลทุกคน" มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น สปสช.จึงมีหน้าที่ต้องให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่บุคคลทุกคนโดยเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ตามมาตรา 18 (14) บัญญัติให้ บอร์ด สปสช. มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ครม.มอบหมาย โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบวงเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครอบคลุมการให้บริการสาธารณสุขแก่ "ประชากรไทยทุกคน"

คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ มีความเห็นว่า สปสช. จึงมีอำนาจในทางบริหารตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 5 ให้ "บุคคลทุกคน" มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และมาตรา 18 (14) มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ครม.มอบหมาย

ชงปรับสิทธิรักษาพยาบาล \"ประกันสังคม\"  รัฐสมทบเพิ่ม-โอนให้ใช้สิทธิ 30บาท

ต่อมาครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566  มีมติเห็นชอบงบประมารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีส่วนของงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับทุกคนทุกสิทธิ

โดยงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทุกคนทุกสิทธิ ปี 2566 จำนวนราว 21,381 ล้านบาทปี 2567 จำนวนราว 24,044 ล้านบาท และปี 2568 จำนวนราว 25,383 ล้านบาท

ฉะนั้นแล้ว การที่สปสช.สามารถดำเนินการเรื่องบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้กับทุกคนทุกสิทธิได้ อาจเป็นบรรทัดฐานให้สปสช.สามารถดำเนินการเรื่อง “บริการสาธารณสุขสำหรับทุกคน” ได้ในเรื่องอื่นๆ รวมถึง บริการรักษาพยาบาลด้วย...หรือไม่ 

ตัวอย่างบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ในปีงบประมาณ 2566 ประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ จำนวน 66,896,883 คน ประกอบด้วย ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 46,934,110 คน ผู้มีสิทธิประกันสังคม 12,853,541 คน และผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ 5,320,944 คน สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น 681,009 คน สิทธิประกันตนคนพิการ 12,431 คน สิทธิครูเอกชน 81,319 คน และบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ 718,732 คน โดยนับรวมบุคคลที่ยังไม่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ จำนวน 203,805 คน บุคคลที่ไม่อยู่ในทะเบียนบ้านรอยืนยันสิทธิ 80,560 คน และคนไทยในต่างประเทศ 10,432 คน

บริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ

1. ฝากครรภ์

2. ตรวจคัดกรองดาวน์ ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์

3. ตรวจยืนยันโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี

4. ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและซิฟิลิส ในสามีหรือคู่หญิงตั้งครรภ์

5. ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด

6. ตรวจคัดกรองโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ด้วยเครื่อง Tandemmass spectrometry (TMS) ในทารกแรกเกิด

7. ยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

8. คุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ฝังยาคุม) หญิงอายุ น้อยกว่า 20 ปี

9. คุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ฝังยาคุม) หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป

10. บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ

11. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

12. ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Fit test)

13. ตรวจคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก

14. ตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่มีความเสี่ยงสูง ญาติสายตรงมีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์

15. ตรวจคัดกรองและค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง

16. คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด