บอร์ดสสส.ชงห้ามพก-สูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ในสนามบิน-โรงเรียน-ร้านเหล้า
บอร์ด สสส. เห็นชอบข้อเสนอควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เร่งประสาน ตำรวจไซเบอร์ ปราบขายออนไลน์ หลังพบ 309 บัญชี ใน 23 จังหวัด ชงห้ามพกพา-สูบ ในสนามบิน-โรงเรียน-ร้านเหล้า-ร้านอาหาร
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(บอร์ดสสส.)ว่า ที่ประชุม มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ควรประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำบันทึกความร่วมมือบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน
หรือเสนอรัฐบาล จัดตั้งคณะทำงานร่วมขับเคลื่อนเฉพาะกิจ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมในทุกพื้นที่ และประสานขอความร่วมมือกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ขอให้พิสูจน์ทราบผู้กระทำผิด และเร่งปราบปรามผู้ที่โฆษณาและค้าขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ โดยจากระบบเฝ้าระวัง พบจำนวน 309 บัญชีรายชื่อ กระจายอยู่ใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ
มาตรการทางนโยบายเพื่อสร้างความตระหนักรู้/ควบคุมการสูบในพื้นที่ต่างๆ ควรขอความร่วมมือ เช่น
- กระทรวงคมนาคม ควรสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัด และสถานีขนส่ง หรือ สนามบินและสายการบินทุกแห่ง ตรวจสอบและกวดขัดไม่ให้ผู้โดยสารพกพา หรือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานี หรือ สนามบิน
- กระทรวงศึกษาธิการ ควรสั่งการให้สถานศึกษาทุกแห่ง ตรวจสอบและกวดขัดไม่ให้ นักเรียนในสถานศึกษา พกพา หรือ สูบบุหรี่ไฟฟ้า
- กระทรวงมหาดไทย ควรสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัดและสถานประกอบกิจการ สถานบริการ และหน่วยงานอื่นที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ตรวจสอบและกวดขัดไม่ให้มีผู้พกพา หรือ สูบบุหรี่ไฟฟ้า
- กระทรวงสาธารณสุข ควรมอบนโยบายให้กรมควบคุมโรค ท่ีเป็นเลขาคกก.ควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ (2560) และ สสจ.ให้ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านกรรมการจังหวัดทุกจังหวัด และรายงานให้กระทรวง ทราบทุก 3 เดือน
ที่ประชุมคณะกรรมการ สสส.ยังได้มีการรายงานว่า บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ที่ห้ามนำเข้า ห้ามนำผ่าน ห้ามขาย และห้ามให้บริการ ซึ่งเป็นไปตามฐานความผิดกฎหมาย 4 ฉบับ โดย พ.ร.บ.ศุลกากร ครอบคลุมมากที่สุด ควบคุมตั้งแต่การนำเข้า โฆษณา ซื้อ ครอบครอง ซึ่งเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งตนก็ได้เชิญมาให้ข้อมูลการขับเคลื่อนงานในที่ประชุมวันนี้ด้วย
ด้านนายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กฎหมายกรมควบคุมโรค ห้ามสูบในที่สาธารณะ กฎหมายกรมศุลกากร ห้ามนำเข้า กฎหมาย สคบ. ห้ามซื้อขาย ซึ่งตนมองว่า ควรมีการบูรณาการกฎหมาย เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยจากการลงพื้นที่ขับเคลื่อนงาน ยังพบว่า แหล่งใหญ่ของบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการนำเข้าทางช่องทางธรรมชาติ และสำแดงเท็จ
รวมถึง การจับกุม ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะต้องจับพร้อมกันหลายสาขา เนื่องจากสาขาใหญ่ จะดูกล้องวงจรปิดทั้งหมด หากมีสาขาใดถูกจับ ก็จะแจ้งสาขาที่เหลือปิดหนีทันที จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก ในการจับพร้อมกันทุกสาขาของรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบว่า บุหรีไฟฟ้ามียอดขายถึงสาขาละ 3 ล้านบาท ทำให้จังหวัดจันทบุรี มียอดขายไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสสส. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานแผนงานพลังวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยไร้ยาสูบ ที่ทำงานร่วมกับ 23 องค์กรวิชาชีพ และสมาพันธ์จังหวัด 36 แห่ง ในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการควบคุมยาสูบ สำรวจพฤติกรรมทัศนคติและความรู้ด้านการบริโภคยาสูบของนิสิตนักศึกษาวิชาชีพสุขภาพในประเทศไทย การให้บริการคลินิกลอยฟ้า จัดตั้งคลินิกฟ้าใส 563 แห่ง
และพัฒนาการให้บริการเลิกยาสูบในคลินิก NCDs โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชุมชน กว่า 200 แห่ง การพัฒนาระบบบริการสุขภาพร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ในประเด็นการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะติดนิโคติน นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในการคงกฎหมายห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทย