นักวิชาการจี้นายกฯ เอาผิดเจ้าหน้าที่ ปล่อยมีการค้าบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่
นักวิชาการจี้นายกฯใช้มาตรการทางบริหาร ประกาศเอาผิดเจ้าหน้าที่ ปล่อยมีการค้าบุหรี่ไฟฟ้าพื้นที่ เชื่อทำให้ปัญหาเบาบางลง
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่สวนโมกข์กรุงเทพ มีเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 5 บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย "อย่าปล่อยให้ ฆาตกรลอยนวล" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีมาตรการทางกฎหมายเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆน้อยๆอยู่ 4-5 ฉบับ แต่มีข้อจำกัดในตัว อย่างเช่น กฎหมายศุลากร แม้นำเข้ามามีความผิด แต่มีการกำหนดไว้ว่าถ้าจะผิดคือบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนำเข้ามานั้นมันผิด ซึ่งอาจจะไม่รู้ก็ได้ จึงเป็นข้อจำกัด เพราะฉะนั้น เมื่อดูความรุนแรง ความร้ายแรง ความลงรากลึกของปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว แสดงว่าประกาศที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการที่จะห้ามทัพไม่ให้รุนแรงร้ายแรงไปกว่านี้ แต่ยังคงต้องบังคับใช้ต่อไป
สังคมต้องเรียกร้องเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว หากพื้นที่ใดมีสิ่งเหล่านี้ค้าอยู่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องรับผิดชอบในเชิงพื้นที่ ตรงนี้ใช้มาตรการบริหารของนายกรัฐมนตรีได้เลย โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากมีคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ,ประกาศกระทรวงพาณิชย์รองรับอยู่แล้วว่าห้ามขาย
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวอีกว่า ถ้าฝ่ายการเมืองเห็นแก่ลูกหลานของประเทศ ใช้มาตรการทางบริหารก่อน โดยนายกรัฐมนตรีใช้มาตรการทางบริหาร ประกาศให้ชัดเจนเลยว่าพื้นที่ใดมีการค้าบุหรี่ไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาเบาบางลง ซึ่งเชิงระบบทั่วไปก็มีเรื่องส่วยทั้งหลายเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองจึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนมาตรการทางกฎหมายในระยะยาว จะต้องห้ามไม่ให้มีไว้ในครอบครอง ส่วนกรณีที่หนี ลักลอบนำเข้ามาช่องทางต่างๆ และออนไลน์ก็เป็นประเด็นใหญ่ที่ท้าทายมาก
“ประเด็นใหญ่เรื่องกฎหมายคือ ต้องมีความชัดเจนเรื่องมีไว้ในครอบครองแล้วผิด ตรงจะทำให้ครูหรือใครก็สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดชัดเจนอยู่แล้วก็ไม่มีการดำเนินการ เช่น มีประกาศห้ามขาย ห้ามนำเข้า แต่ก็ยิ่งมี สะท้อนระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ยังมีช่องว่างช่องโหว่ แม้แต่ยาเสพติดยังเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง”ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
ด้านนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ กล่าวว่า ตนมีทีมคณะทำงานที่ไปเฝ้าระวังวันนี้ พบภาพที่เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ก็คือ เยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี ยืนอยู่หน้าร้านๆ หนึ่ง จับกลุ่มกันหลังเลิกเรียน ช่วง 14.00-15.00 น. เพื่อรอให้ร้านเปิดแล้วก็เดินเข้าไปซื้อบุหรี่ ซื้อในชุดนักเรียน ชุดลูกเสือซึ่งเป็นชุดที่ควรช่วยเหลือสังคม แต่วันนี้ลูกเสือเรากลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว
“เรื่องนี้เราต้องจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของใคร ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวผู้ค้าเอง เป็นผลประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ต้องใช้คำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เลวทรามต่ำช้ามาก เพราะว่าถ้ามันมีเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองก็ตาม ก็ปล่อยผ่านไม่ได้ ต้องบอกเลยว่ามันก็มีความอันตรายเพราะเนื่องจากว่าสิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องของการไปขัดผลประโยชน์ของคนอื่น”นายกองตรี ดร.ธนกฤตกล่าว