บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ บุหรี่ไฟฟ้า บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ
การที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.9 เม.ย.2567 เกี่ยวกับมาตรการปราบปรามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้นึกถึงการที่อดีตนายกฯ สหราชอาณาจักร ริชี ซูแน็ก ให้สัมภาษณ์ถึงการห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทใช้แล้วทิ้งเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา
เนื่องจาก “ความหายนะทางด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอังกฤษ”
นายกฯ เศรษฐาขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกันออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ บุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย
และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบนำเข้า และผู้จำหน่าย อย่างจริงจังและเด็ดขาด และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
การแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ รวมทั้งสหราชอาณาจักร ซึ่งสนับสนุนให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย
แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรได้รับหลักฐานเชิงประจักษ์จากหน่วยงานทางด้านสุขภาพหลายแห่ง เช่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งบริติช กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชน
จึงต้องทบทวนนโยบายการควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการห้ามผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วทิ้ง
ในขณะที่ประเทศไทย มีกฎหมายห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดตลอดสิบปีที่ผ่านมา และได้รับการยกย่องจากวารสารการแพทย์บริติช ว่ารัฐบาลไทย “ตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด” ในการใช้นโยบายห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
แต่มีความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ที่ร่างกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดถูกกฎหมาย เพื่อการควบคุม แนวทางนี้ ย้อนแย้งกับสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ
ซึ่งรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ทบทวนนโยบาย และเปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน
การแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่การทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืน คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง
ดังที่เห็นได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง สนธิกำลังร่วมกันจับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
กรณีศึกษาจากสิงคโปร์และฮ่องกง เป็นแนวทางที่ประเทศไทยสามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และดำเนินการได้ทันที
เมื่อเริ่มบังคับใช้กฎหมายการห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในสิงคโปร์ มีการแพร่ระบาดของสินค้าเถื่อนมากมายทางออนไลน์ แต่ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัล จึงทำให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เถื่อนบนสื่อออนไลน์ลดลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ โทษปรับของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อผู้ฝ่าฝืนถูกจับเป็นครั้งที่สอง พร้อมทั้งมีโทษจำคุกเพิ่มเติม
สำหรับฮ่องกง เมื่อมีการพิจารณากฎหมายห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด มีความพยายามที่จะให้ผลิตภัณฑ์ประเภทให้ความร้อน (heat-not-burn) ถูกกฎหมาย
แต่สภานิติบัญญัติมีจุดยืนของการปกป้องสาธารณสุข โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กและเยาวชน จึงผ่านกฎหมายห้ามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และมีโทษปรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายที่สูงมาก
หากกระทรวงดิจิทัลฯ ของไทย เริ่มดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปราบปรามแพลตฟอร์มที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทางสื่อดิจิทัลอย่างเข้มงวดและจริงจัง จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิผลมากขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เม.ย. มีข่าวว่ารัฐสภาของอังกฤษผ่านร่างกฎหมายยุคปลอดบุหรี่ (Tobacco-Free Generation) ซึ่งครอบคลุมทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยมติเห็นชอบอย่างท่วมท้น 383 ต่อ 73 เสียง นับเป็นกฎหมายที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก
เพราะเด็กอังกฤษที่เกิดหลังจากวันที่ 1 ม.ค.2556 จะไม่สามารถใช้ยาสูบและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นการผิดกฎหมายที่จะขายให้แก่เด็กและเยาวชนอังกฤษ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากกฎหมายของนิวซีแลนด์
นโยบายของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน ต่างก็ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่และบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้มงวดมากขึ้น แต่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กำลังจะเดินทางไปดูการผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศจีน
และอนุกรรมาธิการฯ มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย
ทั้งๆ ที่หลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ต่างทบทวนนโยบายที่ผิดพลาด และผ่านร่างกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น นี่คือความย้อนแย้งของผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทย ที่สวนทางกับนานาประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ของการแพร่ระบาดบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเด็กและเยาวชน
นายกรัฐมนตรีของอังกฤษรับฟัง และให้น้ำหนักต่อหลักฐานเชิงประจักษ์จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และหน่วยงานด้านสุขภาพและสาธารณสุขของอังกฤษ
นายกฯ เศรษฐาก็รับฟังหลักฐานการวิจัยต่างๆ จากเครือข่ายสุขภาพของประเทศไทย การที่กรรมาธิการวิสามัญฯ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นความเท่าเทียมที่ถูกต้อง
แต่ความน่าเชื่อถือจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และกรณีศึกษาจากนานาประเทศย่อมมีน้ำหนักมากกว่า “วาทกรรม” ของบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร
สังคมต้องช่วยกันจับตาเฝ้าระวังการแทรกแซงนโยบาย จากบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ